โภชนาการหญิงตั้งครรภ์

Food Fact 15 July 2019

ลูกเป็นสมบัติล้ำค่าของพ่อแม่ อย่างที่เคยเล่าก่อนหน้านี้ว่า โภชนาการของทารกตั้งแต่เกิดไปถึงในช่วงวัยเตาะแตะ ถือเป็นช่วงที่เปราะบางต้องให้ความใส่ใจ เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าเด็กรับอาหารที่ไม่ถูกต้องในช่วงนี้จะมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ร่างกายแคระเกร็น และอาจไม่สามารถกู้กลับได้ในอนาคต นอกจากทารกที่ถือเป็นช่วงเปราะบางแล้ว ยังมีภาวะของหญิงตั้งครรภ์ที่จัดว่าเป็นช่วงเปราะบางเช่นกัน เด็กจะเกิดมาสมบูรณ์แข็งแรงได้ ผู้หญิงต้องมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงระหว่างตั้งครรภ์ และหลังตั้งครรภ์ในช่วงให้นมด้วย

อ.เรวดี นักโภชนาการ เล่าว่าผู้หญิงไทยโดยเฉลี่ยอ้วนกว่าผู้ชาย เมื่อต้องการมีบุตรควรปรึกษาวางแผนกับแพทย์เพื่อให้มีสุขภาพและความพร้อมอย่างแท้จริง ปัจจุบัน แพทย์และพยาบาลแผนกสูตินารีเวชจะได้รับการอบรมพื้นฐานเพื่อให้มีความรู้ด้านโภชนาการที่สามารถให้คำแนะนำกับว่าที่คุณแม่ได้ เพราะภาวะอ้วน นอกจากจะทำให้ผู้หญิงมีลูกยาก พอตั้งครรภ์ก็เสี่ยงกับครรภ์เป็นพิษ เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ น้ำตาลในเลือดสูง และอาจเสี่ยงต่อการแท้งลูกอีกด้วย ในกรณีที่ผู้หญิงผอมหรือน้ำหนักน้อยเกิน ก็ต้องปรับเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสม ในกรณีที่อ้วนเกิน ก็ต้องปรับโภชนาการให้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

 


แม่สร้างลูก ลูกจะฉลาดแข็งแรงอยู่ที่อาหารที่แม่กิน ระหว่างตั้งครรภ์ แม่ต้องสร้างสมองให้กับลูกด้วย DHA แม่จึงต้องกินปลา แม่ต้องกินอาหารที่มีธาตุเหล็กเพื่อสร้างเม็ดเลือด อาหารที่มีแคลเซียมเพื่อบำรุงกระดูก ถ้าไม่ดื่มนม แคลเซียมก็จะถูกดูดไปจากแม่ ทำหญิงตั้งครรภ์มักฟันผุ หรือกระดูกบางหลังคลอด ไม่เคยกินผักก็ต้องกินเพราะช่วงตั้งครรภ์ท้องจะผูก อาหารที่รับประทานทุกคำควรมีคุณค่าทางอาหาร (Nutrient Dense) ถ้าอะไรที่กินแล้วอ้วนอย่างเดียว ไม่ได้ประโยชน์ทางโภชนาการ อย่างน้ำหวาน น้ำอัดลม มันฝรั่งทอด ที่จัดอยู่ในอาหารที่เรียกว่า Empty Calories ซึ่งคือ อาหารที่มีแต่คาร์โบไฮเดรต หรือไขในสูง ในส่วนแร่ธาตุวิตามินสารอาหารต่างๆ แทบไม่มีอะไรเลย อาหารพวกนี้ได้พลังงานอย่างเดียว ไม่ควรเลือกกิน

นอกจากรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ครบถ้วนแล้ว ปริมาณก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ปกติถ้ากินอยู่ที่ 1,600 kcal ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3 (เดือน 4-9) ต้องรับประทานเพิ่มอีก 300 kcal และหลังจากคลอดในช่วงให้นมลูกต้องเพิ่มไปอีก 200 kcal เรียกว่าต้องได้รับพลังงานจากอาหารถึง 2,100 kcal เลยทีเดียว เนื่องจากในช่วงให้นมลูก แม่จะต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ ผู้หญิงจึงไม่ควรลดน้ำหนักทันทีหลังคลอด จะทำให้น้ำนมไม่มีคุณภาพ ถ้าห่วงว่าอ้วนเกิน อาจจะค่อยๆ ลดหลังจากหกเดือนแรก หรือออกกำลังกายให้มาก อย่างที่เกริ่นไปในช่วงต้น ลูกคือสมบัติล้ำค่า ผู้หญิงที่เป็นแม่ต้องเสียสละและอดทนที่จะปรับตัวเองเพื่อให้ตนและลูกมีสุขภาพที่ดีผ่านโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง ขอให้ทุกแม่ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงครับ

#พลอยากเล่า #แม่สร้างลูก

 

ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่
“Good Diet EP13 : โภชนาการหญิงตั้งครรภ์”

แชร์