INARI-SUSHI (เต้าหู้ห่อข้าว)

Print

Inari-Sushi เป็นอีกรูปแบบของซูชิ มีส่วนประกอบหลักเป็นเต้าหู้ทอดที่มีลักษณะเหมือนกระเป๋าสี่เหลี่ยม สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ภาษาญี่ปุ่นเรียกเต้าหู้ทอดแบบนี้ว่า Abura-Ageก่อนจะนำมาห่อข้าวก็จะนำไปปรุงรสโดยการต้มกับซอสก่อน ข้าวที่อยู่ด้านในเป็นข้าวที่ปรุงรสกับน้ำซูชิ อาจจะผสมกับงาขาวคั่ว ใส่เห็ดหอมและแครอทที่หั่นเป็นเต๋าเล็กๆ ก็ได้ (ถ้าต้องการ)

ที่มา

สูตรโดย : พล ตัณฑเสถียร

ส่วนประกอบ


  • เต้าหู้ห่อข้าวสำหรับ 8 ชิ้น

  • ข้าวสารญี่ปุ่น125 มิลลิลิตร

  • น้ำ137 มิลลิลิตร

  • น้ำส้มสายชูข้าว1 ช้อนโต๊ะ

  • น้ำตาลทราย1⁄2 ช้อนโต๊ะ

  • เกลือ1⁄4 ช้อนชา

  • งาขาว (คั่ว)1 ช้อนโต๊ะ

  • เห็ดหอมแห้ง2 (Optional)

  • เต้าหู้ทอดญี่ปุ่น (Abura-Age)4-8 แผ่น

  • น้ำซอสสำหรับเต้าหู้ทอด

  • น้ำซุปดาชิ300 มิลลิลิตร

  • น้ำตาลทราย2 +1ช้อนชา

  • มิริน2 +1ช้อนชา

  • โชยุ2 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ


1.ใส่ข้าวญี่ปุ่นในชามผสมขนาดใหญ่ ใส่น้ำลงไปให้ท่วม คนเร็วๆ และเทน้ำทิ้งทันที เนื่องจากข้าวญี่ปุ่นมีคุณสมบัติดูดซึมน้ำได้เร็ว และน้ำแรกที่ล้างจะมีกลิ่นของรำข้าวที่ไม่ต้องการอยู่มากที่สุด

2.ใช้อุ้งมือขัดข้าวญี่ปุ่นไม่เบาไม่หนักเกินไป ลักษณะเหมือนซักผ้าหมุนชามผสมไปด้วย ให้ข้าวโดนขัดทั่วๆ กัน ใส่น้ำลงไปและกรองออก ทำซ้ำ 3 ครั้ง

3.สะเด็ดน้ำออก ใส่ข้าวญี่ปุ่นลงในหม้อที่จะใช้หุง ใส่น้ำลงไป พักข้าวอย่างต่ำ 30 นาที ให้เม็ดข้าวได้ซึมซับน้ำ

4.นำข้าวไปตั้งไฟ ใช้ความร้อนสูง พอเดือดก็ลดความร้อนลงต่ำสุด แล้วปิดฝาหม้อ หุงข้าวประมาณ 10-12 นาที

5.เปิดฝาหม้อเร็วๆ เพื่อตรวจดูว่าข้าวตั้งเม็ดแล้ว (ลักษณะข้าวจะเห็นเป็นเม็ดๆ ชัดเจน) ปิดฝากลับ เร่งไฟสูงอีก 10 วินาที แล้วยกหม้อออกจากความร้อนทันที

6.ทิ้งข้าวในหม้อที่ปิดฝาไว้อีก 15-30 นาที เพื่อให้ไอน้ำดันข้าวไม่ให้ติดข้างหม้อ

7.ผสมส่วนผสมทั้งหมดของน้ำซูชิ คนให้ละลายเข้ากันดี พักไว้

8.เตรียมถังใส่ข้าวที่เรียกว่า Handai ซึ่งเป็นถังที่ทำจากไม้ ใช้ผสมข้าวซูชิโดยเฉพาะ เนื่องจากถังไม้จะสามารถดูดน้ำส่วนเกินทำให้ข้าวไม่แฉะ ก่อนใช้ควรนำไปผ่านน้ำเร็วๆ แล้วเช็ดหมาด (ถ้าไม่มีสามารถใช้ชามผสมทั่วไปได้) เตรียมทัพพีตักข้าวที่ทำจากไม้ เอาไว้ใช้ในการผสมข้าวกับน้ำซูชิ ก่อนใช้ให้ผ่านน้ำเล็กน้อยเช่นกัน (ถ้าไม่มีสามารถใช้ทัพพีพลาสติกก็ได้) เตรียมผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ เพื่อใช้ในการทำความสะอาดข้าวที่ติดตาม Handaiหรือทัพพีและสุดท้ายให้เตรียมผ้าสะอาดแห้งๆ อีกผืน สำหรับคลุมข้าวไม่ให้แห้ง

9.ถ่ายข้าวที่หุงเสร็จลงใน Handai โดยคว่ำข้าวทั้งหม้อลงไป โรยน้ำซูชิทั่วๆ โดยราดลงบนทัพพีให้ไหลทั่วๆ ข้าว ตัดข้าวให้น้ำซูชิกระจายทั่วๆ และผสมให้เข้ากัน ใช้ผ้าชุบน้ำทำความสะอาด ข้าวที่ติดตามขอบถัง Handai หรือทัพพี ใช้พัด พัดให้ข้าวเย็นตัวลง จะได้ข้าวซูชิที่เงาและไม่เหนียวแฉะ

10.ตัดครึ่งแผ่นเต้าหู้ให้ได้เต้าหู้ที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชิ้น (ถ้าเต้าหู้ที่ใช้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก ก็ไม่ต้องตัด ขึ้นอยู่กับขนาดของเต้าหู้ทอดที่เลือกใช้) ค่อยๆ อ้าด้านในของเต้าหู้ออกจากกันให้มีลักษณะเหมือนกระเป๋าสี่เหลี่ยม ใส่แผ่นเต้าหู้ลงในหม้อใส่น้ำ ตั้งไฟเพื่อดึงน้ำมันที่อยู่ในตัวเต้าหู้ออก ใช้กระดาษซับให้แห้ง

11.แช่เห็ดหอมแห้งในน้ำให้นิ่ม ตัดขาทิ้ง

12.ทำน้ำซอสสำหรับเต้าหู้ทอด โดยผสมน้ำซุปดาซิ น้ำตาลทราย โชยุ และมิรินอย่างละ 2 ช้อนโต๊ะในหม้อ ตั้งไฟให้เดือด ใส่เห็ดหอมและแผ่นเต้าหู้กลับลงไปในน้ำซอส ใช้ฝาหม้อ (drop lid) หรือทัพพีโปร่งที่มีลักษณะเล็กกว่าปากหม้อใส่ลงไปเพื่อเป็นการกดให้แผ่นเต้าหู้ไม่ลอยขึ้นเหนือน้ำซอส และให้ความร้อนกระจายทั่ว ลดความร้อน ต้มจนน้ำซอสระเหยเหลือประมาณ ¼ จากตอนแรก แล้วจึงใส่น้ำตาลทรายกับมิรินลงไปเพิ่มอีกอย่างละ 1 ช้อนชา เอาฝาหม้อออก เร่งความร้อน ต้มต่อจนน้ำเกือบระเหยหมด นำเต้าหู้ทอดขึ้นมาพักให้เย็น บีบน้ำส่วนเกินออกส่วนเห็ดหอมให้ซอยบางๆ และตัดเป็นชิ้นเล็กๆ

13.ผสมข้าวซูชิ งาขาวคั่ว และเห็ดหอมให้เข้ากัน ใช้มือปั้นข้าวเป็นก้อน ก่อนใส่ในถุงเต้าหู้ (เหตุผลที่ควรปั้นก่อน เพราะถ้ายัดข้าวเข้าไปอัดด้านในแรงๆ อาจทำให้ถุงแตกได้) จัดเรียงใส่จานเสิร์ฟพร้อมกับขิงดอง


หมายเหตุ: ทรงของ Inari- Sushi มีลักษณะคล้ายๆ กระสอบข้าวสาร


แสดงความคิดเห็น


Leave a Reply