#พลอยากเล่า ระบบนิเวศในลำไส้ก็เหมือนสังคมเรา
มีจุลินทรีย์ตัวดีและตัวร้าย เหมือนนิยาย และไม่ต่างจากเรื่องจริง
ที่เปิดเรื่องอย่างนี้เพราะเมื่อวานไปดู #ชายกลางเดอะมิวสิคัล มา สนุกดีครับ ดีมากด้วย
หรือชอบอะไรที่น้ำเน่าก็ไม่รู้ อยากให้เพื่อนๆ ไปดู เหลือสองรอบเอง เช็คตั๋วกันเอาเองนะครับ
ตอนเด็ก พลจะคุ้นกับสาวยาคูลท์ที่ขี่จักรยานแวะมาแถวบ้านทุกวัน กินกันทั้งซอยจนเอาขวดมาติดกาวต่อเป็นเก้าอี้ได้
รู้ว่ากินแล้วดี เพราะมันมีแลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) เราคุ้นกับชื่อนี้มาก รู้ว่ามันดี
และมันก็คือหนึ่งใน โปรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา
แหล่งของโปรไบโอติกส์มาจากอาหารที่ผ่านขบวนการหมัก อย่างเช่น โยเกิร์ต กิมจิ เต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว เป็นต้น
เราจึงมักกินโยเกิร์ตเวลาที่ท้องผูก โยเกิร์ตมีทั้งแบบข้นในถ้วย และแบบดื่ม
ทั้งสองแบบอุดมไปด้วยโปรไบโอติกส์ แบบดื่มส่วนใหญ่จะหวานและมีน้ำตาลมากกว่า และอาจจะมีส่วนผสมของน้ำผลไม้
โปรไบโอติกส์ช่วยเปลี่ยนน้ำตาลแลคโตสในนมโดยเอนไซม์แลคเตส
ดังนั้นสำหรับคนที่มีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสจึงควรกินโยเกิร์ตเป็นอย่างยิ่ง
ที่สำคัญโปรไบโอติกส์ยังช่วยในเรื่องอารมณ์ สมอง ความจำ และผิวพรรณอีกด้วย
นอกจากโปรไบโอติกส์ หลายคนอาจเคยได้ยิน พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ซึ่งก็มีความดีไม่แพ้กัน
พรีไบโอติกส์ เป็นอาหารของโปรไบโอติกส์ มีอยู่ในกล้วย หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม ต้นหอม กระเทียม เป็นต้น
สรุปง่ายๆ คือเราจะกินแต่โปรไบโอติกส์ ไม่กินพรีไบโอติกส์ไม่ได้ ต้องกินไปด้วยกัน จึงเป็นที่มาของ ซินไบโอติกส์ (Synbiotics)
ซึ่งคือการรวมตัวของทั้งโปรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีในรูปแบบอาหารเสริมออกมาด้วยเช่นกัน
จากการได้พูดคุยเรื่องโภชนาการกับอาจารย์เรวดี ท่านได้แนะนำว่า ถ้าไม่อยากกินในรูปแบบอาหารเสริม
ก็กินโยเกิร์ตใส่กล้วย ก็ถือว่าได้ซินไบโอติกเหมือนกัน นี่แหละเรื่องท้องไส้ มีตัวร้ายมีตัวดี ไม่ต้องถึงกับโลกสวย
แค่ให้สมดุลก็พอ สุขบัญญัติ 10 ประการข้อแรกที่บอกว่าให้ดูแลรักษาร่างกาย และของใช้ให้สะอาด
หนึ่งในนั้นก็คือการถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ดูแลท้องไส้ด้วยนะครับ ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงครับ
ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ >> Good Diet EP9 : Probiotics