แชร์
กลายเป็นนโยบายระดับชาติที่ต้องช่วยกันรณรงค์ลดกินเค็ม เพราะคนไทยป่วยเพราะกินเค็มมากกว่ากินหวานแล้ว Good Diet อยากให้เพื่อนมีสุขภาพดี อย่าติดการปรุง หรือท่องไว้ในใจว่า อ่านฉลากก่อนกิน และชิมก่อนเติมครับ ขอให้สุขภาพที่ดีเป็นของทุกคน
17 May 2019
Host, Guest
พล ตัณฑเสถียร
กินลดเค็ม
พลอยากเล่า กลายเป็นนโยบายระดับชาติที่ต้องช่วยกันรณรงค์ลดกินเค็ม เพราะคนไทยป่วยเพราะกินเค็มมากกว่ากินหวานแล้ว สาธารณสุขก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนตรวจวัดความดัน เพราะโรคความดันสูงเป็นฆาตกรเงียบที่จะนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง และยังอาจพาไปถึงอัมพฤกษ์อัมพาต เวลาไปต่างจังหวัด หรือตามแหล่งชุมชน เราจะเห็นผู้สูงอายุนอนป่วยติดเตียงกันมาก คนไทยเราไม่ค่อยวัดความดัน หรือพอวัดแล้วก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับมันยังไง ซึ่งปัจจัยหลักๆ มันก็มาจากการกินเค็ม ความเครียด การไม่ออกกำลังกายนี่แหละ ผลสำรวจล่าสุดบอกว่าคนไทยกินเกลือเฉลี่ย 10 ช้อนชาต่อวัน เรียกว่าระดับโซเดียมมากกว่าที่ต้องการเป็นเท่าๆ นี่ยังไม่นับโซเดียมจากแหล่งอื่นๆ นับด้วยก็เรียกว่าล้นเลย ในฐานะผู้บริโภค เราต้องดูแลตัวเอง เพราะคนทั่วไปชอบรสเค็ม อุตสาหกรรมก็ต้องทำอาหารที่จำหน่ายให้รสเข้มข้นให้อร่อยตามความต้องการ การลดเค็มเริ่มที่ตัวเรา อย่างเด็กอ่อนในบ้าน ไม่ต้องไปคิดแทนเด็ก ไม่ควรปรุงใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนใหญ่คุณย่าเลี้ยงหลาน กลัวไม่อร่อย ก็เหยาะนู่นเหยาะนี่ ยิ่งผู้สูงอายุมีแนวโน้วกินเค็มอยู่ด้วย ก็เลยกลายเป็นปลูกฝังให้เด็กเล็กติดรสเค็มตั้งแต่เด็ก การลดเค็มต้องฝึก ต้องลองปรับนิสัยไม่เติมไม่จิ้ม อย่างเทคนิคที่โรงพยาบาลใช้ปรุงอาหารให้ผู้ป่วย เราก็สามารถประยุกต์มาใช้ในบ้านเราได้ คนทั่วไปมีนิสัยชอบปรุง ดังนั้น รสชาติที่เราปรุงต้องตั้งต้นให้อ่อนสุดๆ เรียกว่าแทบจะไม่ใส่เครื่องปรุงเลยก็ว่าได้ การปรุงอาหารที่บ้านทำให้เราควบคุมได้ จากงานสำรวจผู้หญิงไทย 68% ไม่ทำอาหารกินเอง เรายังติดทานอาหารนอกบ้าน บางครอบครัวก็ยึดฟู้ดคอร์ทเป็นแหล่งอาหารหลังลูกเลิกเรียน ทราบไหมครับว่าก๋วยเตี๋ยวที่เรากินนอกบ้านมีโซเดียมเฉลี่ย 1,600 มิลลิกรัมต่อชาม เรียกว่า 80% ของจำนวนโซเดียมที่เราต้องการต่อวันแล้ว ดังนั้น ถ้าเราสามารถปรับพฤติกรรมกินข้าวนอกบ้านน้อยลง แล้วปรุงเองในรูปแบบที่รสไม่จัดจ้านก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก รสอาหารบางครั้งก็สามารถทดแทนได้ด้วยความหอมของสมุนไพร บ้านเราสมุนไพรเยอะ ราคาไม่แพง ตะไคร้ ใบมะกรูด โหระพา ใส่ได้ครับ เพิ่มความอร่อยแถมได้คุณค่าอีกด้วย ที่สำคัญ คือเรื่องของโซเดียมมันมากกว่าความเค็ม คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ ทุกวันนี้ เขาจึงรณรงค์จากเรื่องการลดเค็มก่อน ลดเค็มก็คือลดเกลือ แต่วัฒนธรรมคนไทยก็ใช่ว่าปรุงอาหารด้วยเกลือเป็นหลักเหมือนฝรั่ง เรากินซีอิ๊ว น้ำปลา ซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม ซอสพริก น้ำปลาร้า ก็ขอให้รู้ว่าเครื่องปรุงเหล่านี้ก็เกลือก็โซเดียมด้วยเช่นกัน รวมถึงอาหารแปรรูปที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Processed food ทั้งหลาย อย่างถ้าเราอยากกินลูกชิ้นเนื้อ ก็กินเนื้อไปเลยดีกว่า หรือกินหมูก็ดีกว่าไส้กรอก เบคอน หรือแฮม เป็นต้น แต่ถ้าอดใจไม่ไหว ก็ลดปริมาณลดความถี่ก็ถือว่าดีแล้ว เคล็ดลับที่พลได้มา และอยากแบ่งปันก็คือ หัดอ่านฉลาก เปรียบเทียบให้เป็น อย่าติดการปรุง หรือท่องไว้ในใจว่า อ่านฉลากก่อนกิน และชิมก่อนเติมครับ ขอให้สุขภาพที่ดีเป็นของทุกคน ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ Good Diet Ep7 : กินรสเค็ม