Good Diet EP11 : หวานดี แต่อย่าดีแต่หวาน

เพื่อนๆ เป็นกันหรือเปล่า เวลากินอะไรหวานๆ แล้วมักจะวางไม่ลง หยุดไม่ได้ แต่คุณรู้ไหมว่า 1 ใน 3 ของคนไทยประสบปัญหาโรคอ้วน Good Diet จึงอยากแบ่งปันข้อมูล เรื่องหวานๆ กับเพื่อนๆ เพราะ หวานดี แต่อย่าดีแต่หวาน

Host, Guest

พล ตัณฑเสถียร

บทความที่เกี่ยวข้อง


หวานดี แต่อย่าดีแต่หวาน

ความหวานให้ความสดชื่น และก็ยังให้พลังงานเพราะถือเป็นสารอาหารคาร์โบไฮเดรต แต่ปัญหาอยู่ที่เราติดหวานเกินไปหรือเปล่า อาหารไทยหลายชนิดมีรสหวานเป็นหลัก อย่างหมี่กรอบ ซอสเปรี้ยวหวาน ซอสผัดไทย แถมเวลาเรากินก๋วยเตี๋ยว เราก็ยังใส่น้ำตาลเพิ่ม พลเองก็ชอบกินหวานเหมือนกัน และจะสังเกตว่าเวลากินอะไรหวานๆ แล้วมักจะวางไม่ลงหยุดไม่ได้ แต่เมื่อเห็นสถิติของคนอ้วนคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็ทำให้ต้องหยุดคิดพิจารณาไม่ตามใจปากตัวเองเหมือนกัน นักโภชนาการเล่าให้ฟังว่าปัจจุบันบ้านเราประสบปัญหาโรคอ้วน 1 ใน 3 ของคนไทยอยู่ในเกณฑ์อ้วน ยิ่งผู้หญิงวัยกลางคนและเด็กในโรงเรียนเอกชนบางโรงเรียนสถิติสูงถึง 1 ใน 2 เรียกว่าไม่สนใจไม่ได้แล้ว อย่างที่กระทรวงศึกษาไม่อนุญาตให้ขายน้ำอัดลมให้เด็ก แต่ถ้าเด็กยังติดหวาน ก็จะเห็นว่าน้ำสมุนไพร น้ำสีน้ำชงต่างๆ ที่ปรุงขึ้นมาขายเด็กๆ ก็ไม่ได้หวานน้อยกว่าเลย ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์ก็จะเห็นว่า ถ้าคนยังกินหวาน พ่อค้าแม่ค้าก็จะหาทางผลิตอาหารเครื่องดื่มมาให้ตรงกับรสที่ลูกค้าชอบให้ได้ ดังนั้น ถ้าเราอยากแข็งแรง ดูแลตัวเองเถอะ การลดหวาน ก็คือลดน้ำตาลซูโครส (Sucrose) และใช้สารให้ความหวานอย่างอื่นมาทดแทน เรียกง่ายๆ ก็คือลดซูโครส แต่ไม่อยากลดรสหวาน จึงเป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมอาหารที่จะพัฒนาสารให้ความหวานออกมาสู่ตลาด อย่างบ้านเราก็จะมีการใช้ขัณฑสกร (Saccharin) ซึ่งก็มีงานวิจัยบอกว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ FDA ของอเมริกาให้ใช้ได้ ส่วน EU ของทางยุโรปกลับไม่ให้ใช้ ปัจจุบัน ก็จะมีหญ้าหวาน ซึ่งมาจากธรรมชาติ และไม่มีรสขมที่ปลายลิ้นด้วย ถ้าจะมองภาพรวม ก็จะเห็นว่าสารทดแทนความหวานบางอย่าง ก็อยู่ในโซนสีเทาดูคลุมเครือยังสรุปไม่ได้ ในฐานะผู้บริโภค พลรู้สึกว่าการหาของมาทดแทน ก็สามารถช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่จะดีกว่ามากถ้าเราสามารถปรับลดการบริโภครสหวานของเรา ดูจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่า พลจะถูกปรึกษาจากคนรอบข้างบ่อยๆ เกี่ยวกับอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนตัวจะแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการมากกว่า แต่เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับนักโภชนาการ จึงขอคำปรึกษาและได้คำตอบในภาพใหญ่ๆ มาฝาก ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่กินน้ำตาลแล้วเป็นเบาหวาน มันไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างนั้น แต่เบาหวานมักเกิดกับคนอ้วน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะอ้วนเพราะกินหวานนี่แหละ นักโภชนาการบอกว่า คนปกติจะกินน้ำตาลเพิ่มได้ 5% นั่นหมายความว่า ผู้ชายที่ต้องการอาหาร 2,000 Kcal ต่อวัน สามารถกินน้ำตาลเพิ่ม หรือใส่น้ำตาลเพิ่มในโภชนาการต่อวันของเราได้ 100 Kcal ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำตาลทราย 5 ช้อนชานั่นเอง สำหรับคนเป็นเบาหวาน ก็ต้องตัดส่วนนี้ทิ้งไป และก็ระวังที่จะบริโภคอาหารหรือผลไม้ที่มีรสหวานมากเท่านั้น โดยรวมๆ ก็คือ มีโภชนาการเหมือนคนที่ดูแลสุขภาพคนหนึ่ง นั่นคือ กินข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีท กินผลไม้ที่หวานน้อย หลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลเพิ่มนั่นเอง และขอทำความเข้าใจว่า น้ำผึ้ง หรือน้ำตาลทรายแดง ที่เราเชื่อว่า มันมีวิตามิน แต่เราก็ต้องรู้ว่า มันก็คือน้ำตาล ถ้าคิดจะหาวิตามินจากความหวานเหล่านี้ นักโภชนาการแนะนำว่า หาจากแหล่งอื่นเถอะ มันไม่ได้เยอะแยะมากมาย ก็ฝากให้คิดเพลินๆ นะครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP11 : หวานดี แต่อย่าดีแต่หวาน”