Good things

Food Fact, ไม่มีหมวดหมู่

อาหารทารก ประตูสู่อนาคต

#พลอยากเล่า การเริ่มต้นที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ นักโภชนาการเล่าให้พลฟังว่า กระทรวงสาธารณสุขจะย้ำและให้ความสำคัญกับ 1,000 วันแรกของเด็ก ต้องมั่นใจว่าเด็กต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องเพื่อที่จะมีสุขภาพที่ดีในอนาคต รับการฉีดวัคซีน มีการดูแลป้องกันโรคติดเชื้อ และได้รับโภชนาการอาหารที่ดี ถ้าดูแลไม่ดี เด็กอาจจะมีภาวะผอม แคระแกร็นได้ในอนาคต องค์การอนามัยโรคจะแนะนำให้เด็กกินนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 0-6 เดือน นมแม่คืออาหารหลักที่ดีที่สุด เด็กที่กินนมแม่จะมีภูมิคุ้มกัน ไม่ค่อยแพ้อะไร ซึ่งเด็กสามารถกินนมแม่ได้ถึง 2 ขวบ แต่คุณค่าของนมแม่ก็จะลดลงตามเวลา นั่นคือสาเหตุที่หลังจาก 6 เดือน เด็กต้องได้รับอาหารเสริม ซึ่งควรเป็นอาหารที่ย่อยได้ง่าย หลักๆ ก็คือข้าว ต้องบดให้ละเอียด อาจจะผสมนมแม่ หรือน้ำสต๊อกที่ไม่ปรุงรสก็ได้ นอกจากนั้น ก็ยังมีไข่แดง ตับ แหล่งของธาตุเหล็ก ช่วยสร้างเม็ดเลือดบำรุงสมอง หรืออย่างวิตามินซี เราก็สามารถคั้นส้มแกะเปลือก แล้วป้อนเด็กสดๆ หลักการเตรียมอาหารของเด็กคือ ต้องบดให้ละเอียดเพราะกระเพาะเด็กยังไม่แข็งแรง ที่สำคัญในช่วงขวบปีแรก ต้องยึดนมแม่เป็นอาหารหลัก ส่วนที่ให้เพิ่มเติมถือเป็นอาหารเสริม ช่วงเริ่มต้นควรให้ลองทีละชนิด เผื่อในกรณีที่เด็กมีอาการแพ้ จะได้รู้ได้ว่าแพ้อะไร นักโภชนาการเล่าว่า พวกผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อย่าง สตรอว์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ซึ่งเป็นผลไม้ป่า เป็นอาหารที่ควรจะหลีกเลี่ยงเพราะอาจเกิดอาหารแพ้ได้ง่าย หลังจาก 1 ขวบ เป็นช่วงที่เข้าสู่วัยเตาะแตะ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวัยเปราะบาง ต้องดูแลอย่างดี เด็กเริ่มลุกขึ้นมาเดินเตาะแตะ มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตสังคม เห็นโลกมากขึ้น ชอบเล่น ชอบออกนอกบ้านมากขึ้น เด็กบางคนต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้กระโถน หลายๆ ครั้งก็ไม่สนใจเรื่องกินข้าว เป็นช่วงที่แม่ต้องใช้เวลาดูแล เพราะฉะนั้น แม่ไม่ควรมีลูกติดกันเร็วเกินไป อย่างน้อยควรห่างกันประมาณ 2 ปี มิฉะนั้น แม่จะเอาเวลาไปสนใจน้อง ไม่ดูแลพี่ได้ แม่ควรลุกขึ้นมาทำอาหารให้ลูกกิน อาหารต้องเหมาะกับความต้องการตามวัย พยายามให้เด็กผึกกินอาหารเอง ไม่เอาแต่ป้อน อาจจะทำอาหารในลักษณะที่ใช้มือหยิบจับได้บ้าง เพื่อที่เด็กจะได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อ และต้องระวังไม่ปล่อยหรือตามใจให้เด็กกินแต่ของซ้ำๆ อย่างที่เรียกกันว่า Food Jag คือกินอร่อยแล้ว ก็เลยไม่อยากลองอะไรใหม่อีก นอกจากวัยเตาะแตะ ก็ยังมีวัยผู้สูงอายุ รวมถึงผู้หญิงมีครรภ์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงหรือภาวะที่เปราะบาง ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เดี๋ยวในครั้งหน้า พลจะนำสิ่งที่เราต้องคำนึงและใส่ใจกับหญิงตั้งครรภ์มาฝาก ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าครับ   ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP12 : อาหารทารก ประตูสู่อนาคต”

Food Fact

หวานดี แต่อย่าดีแต่หวาน

ความหวานให้ความสดชื่น และก็ยังให้พลังงานเพราะถือเป็นสารอาหารคาร์โบไฮเดรต แต่ปัญหาอยู่ที่เราติดหวานเกินไปหรือเปล่า อาหารไทยหลายชนิดมีรสหวานเป็นหลัก อย่างหมี่กรอบ ซอสเปรี้ยวหวาน ซอสผัดไทย แถมเวลาเรากินก๋วยเตี๋ยว เราก็ยังใส่น้ำตาลเพิ่ม พลเองก็ชอบกินหวานเหมือนกัน และจะสังเกตว่าเวลากินอะไรหวานๆ แล้วมักจะวางไม่ลงหยุดไม่ได้ แต่เมื่อเห็นสถิติของคนอ้วนคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็ทำให้ต้องหยุดคิดพิจารณาไม่ตามใจปากตัวเองเหมือนกัน นักโภชนาการเล่าให้ฟังว่าปัจจุบันบ้านเราประสบปัญหาโรคอ้วน 1 ใน 3 ของคนไทยอยู่ในเกณฑ์อ้วน ยิ่งผู้หญิงวัยกลางคนและเด็กในโรงเรียนเอกชนบางโรงเรียนสถิติสูงถึง 1 ใน 2 เรียกว่าไม่สนใจไม่ได้แล้ว อย่างที่กระทรวงศึกษาไม่อนุญาตให้ขายน้ำอัดลมให้เด็ก แต่ถ้าเด็กยังติดหวาน ก็จะเห็นว่าน้ำสมุนไพร น้ำสีน้ำชงต่างๆ ที่ปรุงขึ้นมาขายเด็กๆ ก็ไม่ได้หวานน้อยกว่าเลย ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์ก็จะเห็นว่า ถ้าคนยังกินหวาน พ่อค้าแม่ค้าก็จะหาทางผลิตอาหารเครื่องดื่มมาให้ตรงกับรสที่ลูกค้าชอบให้ได้ ดังนั้น ถ้าเราอยากแข็งแรง ดูแลตัวเองเถอะ การลดหวาน ก็คือลดน้ำตาลซูโครส (Sucrose) และใช้สารให้ความหวานอย่างอื่นมาทดแทน เรียกง่ายๆ ก็คือลดซูโครส แต่ไม่อยากลดรสหวาน จึงเป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมอาหารที่จะพัฒนาสารให้ความหวานออกมาสู่ตลาด อย่างบ้านเราก็จะมีการใช้ขัณฑสกร (Saccharin) ซึ่งก็มีงานวิจัยบอกว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ FDA ของอเมริกาให้ใช้ได้ ส่วน EU ของทางยุโรปกลับไม่ให้ใช้ ปัจจุบัน ก็จะมีหญ้าหวาน ซึ่งมาจากธรรมชาติ และไม่มีรสขมที่ปลายลิ้นด้วย ถ้าจะมองภาพรวม ก็จะเห็นว่าสารทดแทนความหวานบางอย่าง ก็อยู่ในโซนสีเทาดูคลุมเครือยังสรุปไม่ได้ ในฐานะผู้บริโภค พลรู้สึกว่าการหาของมาทดแทน ก็สามารถช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่จะดีกว่ามากถ้าเราสามารถปรับลดการบริโภครสหวานของเรา ดูจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่า พลจะถูกปรึกษาจากคนรอบข้างบ่อยๆ เกี่ยวกับอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนตัวจะแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการมากกว่า แต่เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับนักโภชนาการ จึงขอคำปรึกษาและได้คำตอบในภาพใหญ่ๆ มาฝาก ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่กินน้ำตาลแล้วเป็นเบาหวาน มันไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างนั้น แต่เบาหวานมักเกิดกับคนอ้วน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะอ้วนเพราะกินหวานนี่แหละ นักโภชนาการบอกว่า คนปกติจะกินน้ำตาลเพิ่มได้ 5% นั่นหมายความว่า ผู้ชายที่ต้องการอาหาร 2,000 Kcal ต่อวัน สามารถกินน้ำตาลเพิ่ม หรือใส่น้ำตาลเพิ่มในโภชนาการต่อวันของเราได้ 100 Kcal ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำตาลทราย 5 ช้อนชานั่นเอง สำหรับคนเป็นเบาหวาน ก็ต้องตัดส่วนนี้ทิ้งไป และก็ระวังที่จะบริโภคอาหารหรือผลไม้ที่มีรสหวานมากเท่านั้น โดยรวมๆ ก็คือ มีโภชนาการเหมือนคนที่ดูแลสุขภาพคนหนึ่ง นั่นคือ กินข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีท กินผลไม้ที่หวานน้อย หลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลเพิ่มนั่นเอง และขอทำความเข้าใจว่า น้ำผึ้ง หรือน้ำตาลทรายแดง ที่เราเชื่อว่า มันมีวิตามิน แต่เราก็ต้องรู้ว่า มันก็คือน้ำตาล ถ้าคิดจะหาวิตามินจากความหวานเหล่านี้ นักโภชนาการแนะนำว่า หาจากแหล่งอื่นเถอะ มันไม่ได้เยอะแยะมากมาย ก็ฝากให้คิดเพลินๆ นะครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP11 : หวานดี แต่อย่าดีแต่หวาน”

Food Fact

โปรตีนสูง พลังงานสูง

โปรตีนสูง พลังงานสูง ปัจจุบัน มีคนให้ความสนใจกับโภชนาการแบบรับประทานโปรตีนสูง (High Protein Diet) เมื่อโปรตีนสูง พลังงานที่ได้ก็สูงเช่นกัน เนื่องจากโปรตีนคือ หนึ่งในสามของสารอาหารที่ให้พลังงาน ซึ่งได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน ตามหลักโภชนาการ พลังงานที่เราได้รับในแต่ละวันควรมาจากทั้งสามแหล่งสารอาหาร โดยแบ่งเป็นพลังงานจากคาร์โบไฮเดรต หรือกลุ่มอาหารข้าวแป้ง 50-60% พลังงานจากโปรตีน หรือกลุ่มเนื้อสัตว์ 10-20% และพลังงานจากไขมันอีกไม่เกิน 30% วิธีการคำนวณโปรตีนที่เราควรได้รับในแต่ละวันแบบง่ายๆ คือ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ควรรับประทานโปรตีน 1 กรัม เช่น น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัม เราควรได้โปรตีน 70 กรัมต่อวัน เมื่อพูดถึงโภชนาการโปรตีนสูง หลักๆ ก็คือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2-1.5 เท่า ซึ่งกลุ่มคนที่ต้องการโปรตีนสูงได้แก่ นักกีฬาที่ใช้พลังงาน ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยที่ต้องการเพิ่มน้ำหนัก รวมถึงเด็กที่ขาดสารอาหารตัวแคระแกร็น ในทางปฏิบัติ มีคนที่เพิ่มโปรตีนขึ้นถึง 2-2.5 เท่า ซึ่งอาจจะเกินความจำเป็น ในกรณีที้ไม่หมดก็จะถูกขับออก ทำให้ไตทำงานเพิ่มอีกด้วย ดังนั้น ในการเพิ่มสัดส่วนของโปรตีนต่อวัน เราควรพิจารณาให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตและความต้องการของร่างกายด้วย วิธีการคำนวณโปรตีน เราต้องอาศัยตารางอาหารแลกเปลี่ยน ซึ่งจะให้รายละเอียดว่าอาหารแต่ละอย่างให้โปรตีนกี่กรัม เช่น เนื้อสัตว์ หรือ อาหารที่ให้โปรตีนเป็นหลักอย่างเต้าหู้ หรือนม 30 กรัม จะมีโปรตีนอยู่ที่ประมาณ 7 กรัม แต่ก็ไม่ใช่ว่าอาหารอย่างอื่นจะไม่มีโปรตีนเลย เพราะอย่างข้าวสวย 55 กรัม ก็จะมีโปรตีน 2 กรัม ดังนั้น เราควรได้รับโปรตีนจากกลุ่มอาหารที่หลากหลาย โปรตีนจากกลุ่มเนื้อสัตว์ถือเป็นโปรตีนสมบูรณ์ (Complete Protein) ซึ่งจะมีกรดอะมิโนครบ 21 ชนิด ในขณะที่โปรตีนจากพืชจะเป็นโปรตีนไม่สมบูรณ์ (Incomplete Protein) มีกรดอะมิโนไม่ครบทุกชนิด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คนที่ทานมังสวิรัติจะไม่สามารถได้กรดอะมิโนที่ครบถ้วน ยกตัวอย่างเช่น โปรตีนในข้าว จะไม่มีไลซีน (Lysine) หรือในถั่วจะไม่มีเมทไธโอนีน (Methionine) แต่เมื่อทานข้าวและถั่วร่วมกัน เราก็จะสามารถได้กรดอะมิโนที่ครบถ้วนได้เช่นกัน สามารถเข้าไปดูตารางอาหารแลกเปลี่ยนได้ตามลิ้งค์ “ตารางอาหารแลกเปลี่ยน” ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP10 : โปรตีนสูงพลังงานสูง”

Tips & Tricks

Lost in Japan

Lost in Japan แซนวิชไก่ในรูปแบบที่แตกต่างจาก 3 วัฒนธรรมอาหาร กับกลิ่นอายรสชาติแบบญี่ปุ่นที่เข้ากันได้อย่างไม่เก้อเขิน   Chicken Teriyaki Banh Mi บั๋นหมี่ไก่เทริยากิ แซนวิชในสไตล์เวียดนาม ที่มีจุดเด่นอยู่ที่การใช้ขนมปังฝรั่งเศส ปรับรสชาติให้มีกลิ่นอายสไตล์ญี่ปุ่นด้วยการเสิร์ฟกับไก่เทอริยากิ เคียงด้วยผักดองรสเปรี้ยวที่เข้ากันได้ดีกับรสหวานของไก่เทอริยากิ ขนมปังบาร์แกต                   สำหรับเสิร์ฟ มายองเนสสไตล์ญี่ปุ่น         สำหรับเสิร์ฟ แตงกวา                               สำหรับเสิร์ฟ ต้นหอม                                สำหรับเสิร์ฟ งาขาวคั่ว                             สำหรับเสิร์ฟ ไก่เทอริยากิ สะโพกไก่                              150           กรัม สาเก                                     1                ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย                        1 ½           ช้อนโต๊ะ มิริน                                      2                ช้อนโต๊ะ โชยุ                                      2                ช้อนโต๊ะ น้ำมันรำข้าว                        2                ช้อนชา เกลือ             

Food Fact

Probiotics

#พลอยากเล่า ระบบนิเวศในลำไส้ก็เหมือนสังคมเรา มีจุลินทรีย์ตัวดีและตัวร้าย เหมือนนิยาย และไม่ต่างจากเรื่องจริง ที่เปิดเรื่องอย่างนี้เพราะเมื่อวานไปดู #ชายกลางเดอะมิวสิคัล มา สนุกดีครับ ดีมากด้วย หรือชอบอะไรที่น้ำเน่าก็ไม่รู้ อยากให้เพื่อนๆ ไปดู เหลือสองรอบเอง เช็คตั๋วกันเอาเองนะครับ ตอนเด็ก พลจะคุ้นกับสาวยาคูลท์ที่ขี่จักรยานแวะมาแถวบ้านทุกวัน กินกันทั้งซอยจนเอาขวดมาติดกาวต่อเป็นเก้าอี้ได้ รู้ว่ากินแล้วดี เพราะมันมีแลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) เราคุ้นกับชื่อนี้มาก รู้ว่ามันดี และมันก็คือหนึ่งใน โปรไบโอติกส์ (Probiotics) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ของเรา แหล่งของโปรไบโอติกส์มาจากอาหารที่ผ่านขบวนการหมัก อย่างเช่น โยเกิร์ต กิมจิ เต้าหู้ยี้ เต้าเจี้ยว เป็นต้น เราจึงมักกินโยเกิร์ตเวลาที่ท้องผูก โยเกิร์ตมีทั้งแบบข้นในถ้วย และแบบดื่ม ทั้งสองแบบอุดมไปด้วยโปรไบโอติกส์ แบบดื่มส่วนใหญ่จะหวานและมีน้ำตาลมากกว่า และอาจจะมีส่วนผสมของน้ำผลไม้ โปรไบโอติกส์ช่วยเปลี่ยนน้ำตาลแลคโตสในนมโดยเอนไซม์แลคเตส ดังนั้นสำหรับคนที่มีภาวะขาดหรือพร่องเอนไซม์แลคเตสจึงควรกินโยเกิร์ตเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญโปรไบโอติกส์ยังช่วยในเรื่องอารมณ์ สมอง ความจำ และผิวพรรณอีกด้วย นอกจากโปรไบโอติกส์ หลายคนอาจเคยได้ยิน พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ซึ่งก็มีความดีไม่แพ้กัน พรีไบโอติกส์ เป็นอาหารของโปรไบโอติกส์ มีอยู่ในกล้วย หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม ต้นหอม กระเทียม เป็นต้น สรุปง่ายๆ คือเราจะกินแต่โปรไบโอติกส์ ไม่กินพรีไบโอติกส์ไม่ได้ ต้องกินไปด้วยกัน จึงเป็นที่มาของ ซินไบโอติกส์ (Synbiotics) ซึ่งคือการรวมตัวของทั้งโปรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ ซึ่งในปัจจุบันก็จะมีในรูปแบบอาหารเสริมออกมาด้วยเช่นกัน จากการได้พูดคุยเรื่องโภชนาการกับอาจารย์เรวดี ท่านได้แนะนำว่า ถ้าไม่อยากกินในรูปแบบอาหารเสริม ก็กินโยเกิร์ตใส่กล้วย ก็ถือว่าได้ซินไบโอติกเหมือนกัน นี่แหละเรื่องท้องไส้ มีตัวร้ายมีตัวดี ไม่ต้องถึงกับโลกสวย แค่ให้สมดุลก็พอ สุขบัญญัติ 10 ประการข้อแรกที่บอกว่าให้ดูแลรักษาร่างกาย และของใช้ให้สะอาด หนึ่งในนั้นก็คือการถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ดูแลท้องไส้ด้วยนะครับ ขอให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ >> Good Diet EP9 : Probiotics

Food Fact

แหล่งต้านอนุมูลอิสระ

#พลอยากเล่า กินนู่นสิ กินนี่สิ เพราะมันมีสารต้านอนุมูลอิสระ ว่าแต่มันคืออะไร และทำไมต้องไปต้าน Good Diet Podcast ช่วยให้พลหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องโภชนาการได้อย่างดี จากการพูดคุยกับอาจารย์เรวดี จงสุวัฒน์ ทำให้เข้าใจว่า กระบวนการทำงานกระบวนการเผาผลาญของร่างกายเราก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นเหมือนตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของสุขภาพเรา มันจะโยงไปถึงเรื่องเซลมะเร็ง เรื่องของความแก่ พอมีมาก มันก็ทำให้เรามีความเสี่ยงมากขึ้น อนุมูลอิสระมันมาจากหลายสาเหตุ อย่างคนอ้วนมีความเสี่ยงที่จะเกิดอนุมูลอิสระได้มากกว่า เพราะมีการเผาผลาญมากกว่าคนผอม อนุมูลอิสระก็จะวนเวียนอยู่ในกระแสเลือด เมื่อไม่มีตัวดีมาจับคู่ ก็จะทำให้เกิดความเสื่อม หรืออย่างควันน้ำมันก็เช่นกัน เราควรเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ย่างจนไหม้ หรืออย่างควันจากน้ำมัน ไม่ได้อันตรายแค่คนที่กินอาหารที่ปรุงจากน้ำมันที่ร้อนจนควันขึ้นเท่านั้น แต่คนที่สูดควันน้ำมันเข้าไปก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน อีกตัวอย่าง ก็คือ แสงแดดที่ทำลายเซลล์ แสงแดดในบางช่วงเวลาทำให้เราเหี่ยว ทำให้เกิดตีนกา จริงอยู่ที่แสงแดดช่วยกระตุ้นวิตามินดี แต่เราก็ต้องเลือกแสงให้ถูกเวลา อนุมูลอิสระ ชื่อก็บอกแล้วว่ามันอิสระ โครงสร้างมันต้องมีคู่ ถ้าอาหารที่เรากินมีสารต้านอนุมูลอิสระ มันก็จะไปจับคู่กัน ทำให้ความร้ายมันลดลง สารต้านอนุมูลอิสระหลักๆ จะอยู่ในพืช ซึ่งเรามีเรียกว่า Phytonutrient (สารพฤกษเคมี) ตัวอย่างเช่น ผักผลไม้ที่มีสีม่วงและสีน้ำเงินมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) นั่นคือสาเหตุที่ข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้รับความนิยม ผักผลไม้สีแดงก็จะมีไลโคปีน (Lycopene) ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งต่อมลูกหมาก อาจารย์เรวดีเล่าว่า สารเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) ในแครอท รวมถึง สารไลโคปีน ในมะเขือเทศจะทำงานได้ดีเวลาที่ผ่านความร้อน ถ้าเราเปรียบเทียบซุปมะเขือเทศสองรูปแบบ ซุปมะเขือเทศสด (Gazpacho) ของสเปน กับซุปมะเขือเทศย่าง (Roasted Tomato Soup) ซึ่งมีการนำมะเขือเทศไปอบก่อน นอกจากรสชาติมะเขือเทศที่เข้มข้นขึ้นแล้ว ในมุมการดูดซึมสารไลโคปีนก็ดีกว่าด้วยเช่นกัน ตรงกันข้ามกับสารอาลิซิน (Allicin) ซึ่งรับประทานสดจะได้สารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าทานแบบผ่านความร้อน ในความคิดของพล ผักสดผลไม้ล้วนมีคุณค่า และก็ไม่ได้หมายความว่าทานสุกหรือสดจะดีกว่าอีกรูปแบบเสมอไป ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรามองหาและต้องการ ศึกษาให้มากและเลือกสิ่งที่ใช่ให้กับตัวเอง ขอให้สุขภาพที่ดีอยู่กับทุกคนไปนานๆ ครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ >> Good Diet EP8 : แหล่งต้านอนุมูลอิสระ

next

End of content

No more pages to load