มะกอกบ้านเรา กับมะกอกที่นำมาทำเป็นน้ำมันมะกอกหรือที่ใช้ในอาหารเมดิเตอร์เรเนียนนั้น เป็นคนละพันธุ์กันนะครับ มะกอกที่ปลูกพืชในแถบเมดิเตอร์เรเนียนนั้นเป็นไม้ยืนต้นที่มีลำตันสีเขียวเทาออกขาวนวล มีดอกสีขาว แถมมีกลิ่นที่หอมด้วย ส่วนผลนั้นก็เล็กเท่านิ้วหัวแม่มือ ผลดิบๆ มีสีเขียว พอแก่ขึ้นก็จะมีสีน้ำตาลแดง หรือม่วง ไม่ว่ามะกอกจะมีผลสีเขียวหรือม่วงเข้ม เราก็ไม่สามารถเก็บมารับประทานได้ทันที เพราะเนื้อมะกอกนั้นจะมีสารอัลคาลอยด์ซึ่งมีรสขมและเฝื่อนอย่างมาก ก่อนที่จะกลายมาเป็นมะกอกเขียวมะกอกดำรสหอมมันนั้น เราจึงต้องนำมาผ่านการบ่มดองเสียก่อน (Curing) การบ่มดองมะกอกมีขั้นตอนในการทำไม่ยาก แต่เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา ในประเทศที่มีมะกอกมากๆ บางครั้งคนก็จะนิยมเก็บหรือซื้อมะกอกที่ยังไม่ผ่านการบ่มดองมาทำเอง แม้ว่าเราคงจะไม่ทำการบ่มดองเอง แต่ผมเชื่อว่าหลายๆ คนก็คงอยากจะรู้ถึงวิธีการบ่มดองมะกอกเองว่าเขาทำกันอย่างไร การบ่มดองเป็นการถนอมอาหารเพื่อกำจัดรสเฝื่อนขมของมะกอก เมื่อมะกอกถูกนำมาบ่มดองอย่างถูกวิธี เราสามารถจะเพิ่มรสชาติหรือกลิ่นเข้าไปในวิธีการบ่มได้ด้วย อย่างการเพิ่มรสชาติและกลิ่นหอมของเครื่องเทศหรือสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น ในยุคกรีกโบราณ ชาวบ้านจะใช้วิธีการดองแบบแห้ง แต่ในปัจจุบัน การบ่มดองได้พัฒนาไปอย่างมาก และนี่คือวิธีที่ครัวเรือนชาวกรีกใช้อยู่ในปัจจุบัน วิธีการบ่มด้วยน้ำสะอาด วิธีนี้จะเหมาะกับมะกอกดิบหรือที่ยังมีสีเขียวผลใหญ่ เวลาที่เราได้มะกอกมา จะต้องทำความสะอาดและล้างให้ดีก่อน จากนั้นจึงใช้หินหรือฆ้อนทุบเบาๆ แต่ต้องระวังไม่ให้เมล็ดด้านในแตก ใส่มะกอกลงในภาชนะที่ใหญ่พอแล้วเติมน้ำสะอาดให้ท่วมดี เปลี่ยนน้ำสะอาดวันละ 2 รอบเช้าเย็น ให้ทำเช่นนี้เป็นระยะเวลา 6-8 วันจนกระทั่งรสขมนั้นหายไป จากนั้นจึงนำมะกอกใส่ในขวดโหล ใส่น้ำเกลือ (เกลือ 1 ส่วนต่อน้ำ 10 ส่วน) ลงไป นำไปแช่เย็นก่อนรับประทาน วิธีการดองในน้ำเกลือ วิธีนี้จะเหมาะกับมะกอกที่สุกดีแล้ว ก่อนอื่นเราจะต้องล้างมะกอกให้สะอาดก่อน ใช้มีดคมๆ กรีดที่ผลมะกอกจากหัวถึงท้าย แต่อย่าให้ถึงเม็ด นำมะกอกใส่ภาชนะที่ใหญ่พอ ผสมน้ำเกลือในอัตราส่วนเกลือ 1 ส่วนต่อน้ำ 10 ส่วน ใส่ลงไป หาก้อนน้ำหนักกดมะกอกไม่ให้ลอยขึ้นมาเหนือน้ำ แล้วปิดฝาภาชนะไว้ การดองเกลือแบบนี้ ใช้เวลา 3 ถึง 5 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับมะกอกนั้นๆ ซึ่งในระหว่างขั้นตอนการดอง เราจะต้องเขย่าภาชนะทุกวัน และเปลี่ยนถ่ายน้ำเกลือทุกสัปดาห์ เมื่อมะกอกคายรสขมจึงค่อยถ่ายมาใส่ในโหล แล้วใส่น้ำเกลือใหม่ลงไป สามารถปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชูไวน์แดงได้ และเพื่อให้มั่นใจว่ามะกอกจะไม่สัมผัสกับอากาศ ให้เราใส่น้ำมันมะกอกลงไปที่ผิวด้านบน ให้คลุมมะกอกดี วิธีการดองเกลือแบบแห้ง วิธีนี้เหมาะกับมะกอกดำผลใหญ่ และมักทำในที่กลางแจ้ง โดยใช้ถุงกระสอบที่อากาศสามารถถ่ายเทได้หรือกล่องไม้ รองด้วยแผ่นพลาสติกเพื่อให้รองรับน้ำที่ไหลออกมา ใส่มะกอกลงในกระสอบหรือกล่องสลับกับเกลือ อัตราส่วนน้ำหนักมะกอก 2 ส่วนต่อเกลือ 1 ส่วน เขย่ากล่องหรือกระสอบทุกวัน และเพิ่มเกลือเล็กน้อยทุก 2-3 วัน เกลือจะทำหน้าที่ดูดน้ำออกจากมะกอก ระยะเวลาก่อนความขมจะหายไปนั้นใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ เราสามารถเก็บรักษามะกอกไว้ในสภาพนั้น หรือจะนำออกจากเกลือและไปต้มเพื่อลดความเค็มก็ได้ สำหรับวิธีนี้อาจทำให้ผิวของมะกอกดูย่นไม่ตึง เราสามารถฟื้นฟูผิวของมะกอกให้สวยได้โดยการนำไปแช่ในน้ำมันมะกอก สำหรับมะกอกดำผลเล็ก ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน แต่ควรจะทำในขวดโหลมากกว่า และต้องไม่ลืมที่จะเขย่าขวดโหลเช่นกัน เมื่อความขมหายไป ก็เพียงแต่ใส่น้ำอุ่นลงไปให้ท่วมดี ปรุงรสด้วยน้ำส้มสายชูไวน์แดง และก็ใส่น้ำมันมะกอกลงไปด้านบนเพื่อป้องกันไม่ให้ผลมะกอกสัมผัสกับอากาศ หลังจากนั้น 4-5 วัน มะกอกดำที่ดองไว้ ก็พร้อมที่จะรับประทานได้
พื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกเรื่อง ไม่ยกเว้นแม้แต่เรื่องของการทำของหวาน โดยเฉพาะของหวานสไตล์ฝรั่งเศสที่มีประวัติเรื่องราวอันยาวนาน สำหรับคนทำขนมมือใหม่ที่ไม่เคยผ่านการเรียนการสอนในห้องเรียนมาก่อน อาจจะไม่คุ้นกับส่วนประกอบ หรือของหวานที่มีชื่อว่า Crème Anglaise (ครีมอองเกร์) แต่ถ้าผมจะเรียกมันว่าซอสวานิลลา ก็อาจจะฟังดูคุ้นหูขึ้น Crème Anglaise (ครีมอองเกร์) ก็คือซอสวานิลลา แต่ซอสวานิลลาอาจจะไม่ใช่ครีมอองเกร์ที่กล่าวเช่นนี้เพราะในปัจจุบัน ซอสวานิลลานั้นมีหลายรูปแบบเหลือเกินเอาเป็นว่าเพื่อความไม่สับสน เราจะมาดูว่าเจ้าครีมอองเกร์นั้นคืออะไรก็แล้วกัน Crème Anglaise นั้นเป็นภาษาฝรั่งเศสที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า English Cream ซึ่งก็คือครีมแบบอังกฤษโดยความหมายตามตัวอักษร ครีมหรือซอสตัวนี้มีลักษณะเหมือนซอสคัสตาร์ด มีส่วนประกอบหลักคือ ไข่แดง น้ำตาลทราย และนม ในบางสูตรอาจจะมีส่วนผสมของครีมเข้ามาทดแทนบางส่วนของนม โดยทั่วไป จะมีการปรุงรสและเพิ่มกลิ่นหอมด้วยวานิลลา ขั้นตอนพื้นฐานในการทำครีมอองเกร์นั้นเริ่มจากการตีไข่แดงและน้ำตาลทรายจนมีสีที่อ่อนลง แล้วจึงใส่นม (และครีม) ร้อนๆ ลงไปทีละนิด ขั้นตอนนี้เรียกว่า Tempering หรือการปรับอุณหภูมินั่นเองเพราะถ้าเราใส่ส่วนประกอบที่ร้อนลงไปมากหรือเร็วเกินไป จะทำให้ไข่สุกและแข็งตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ หลังจากนั้นจึงค่อยใส่กลิ่นและรสของวานิลลาลงไป กลิ่นหอมของวานิลลานั้นสามารถมาจากเมล็ดจากฝักวานิลลา หรือวานิลลาแท้สกัดก็ได้ เมื่อใส่วานิลลาลงไปแล้ว ส่วนผสมทั้งหมดก็จะถูกนำไปผ่านความร้อนอีกครั้งด้วยการใส่หม้อตั้งไฟโดยตรง หรือการวางบนหม้อน้ำร้อนอีกทีที่เรียกว่า Bain-Marie ความร้อนที่ใช้กับครีมอองเกร์จะอยู่ระหว่าง 70 -82 องศาเซลเซียส ถ้าสูงมากกว่านั้น ซอสจะจับตัวกันเป็นก้อนเหมือนไข่คน เรามักใช้ช้อนไม้ในการคนตัวครีม เราจะไม่ใช้ตะกร้อ เนื่องจากการใช้ตะกร้อจะทำให้ไข่จับตัวเป็นก้อนได้ง่าย และจะทำให้เกิดฟองอากาศซึ่งทำให้ซอสไม่เนียน สำหรับคนที่ไม่มีเทอร์โมมิเตอร์ การดูว่าครีมข้นได้ทีแล้วหรือยัง จะสามารถสังเกตุได้จากการดูลักษณะของตัวครีมที่เคลือบหลังช้อน ถ้าครีมเคลือบหลังช้อนแล้วไม่ไหล มีลักษณะที่เกาะตัวไม่เคลื่อนที่ แม้ในเวลาที่เราใช้นิ้วปาดบริเวณกลางช้อนและตะแคง ซอสก็จะไม่ไหลผ่านบริเวณที่เราใช้นิ้วปาด นั่นก็หมายความว่าครีมอองเกร์ข้นใช้ได้แล้ว อย่าสับสนครีมอองเกร์กับคัสตาร์ดที่ข้นๆ เพราะครีมอองเกร์ไม่มีแป้ง จึงมีเนื้อสัมผัสไม่หนาเท่าคัสตาร์ด แม้ว่าจะมีรสชาติที่ใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่ ครีมอองเกร์จะใช้เป็นซอสราดขนมเค้ก ราดผลไม้ หรือขนมหวานต่างๆ การเก็บครีมอองเกร์ เราต้องเก็บในตู้เย็นช่องแช่ธรรมดา หรือแช่แข็ง นอกจากจะนำไปใส่เครื่องตีไอศกรีม และตีให้เย็นจัดจนเป็นเนื้อไอศกรีม เพราะครีมอองเกร์นั้น ก็คือส่วนผสมของไอศกรีมวานิลลาก่อนนำไปปั่นให้แข็งนั่นเอง มูสหลายๆ สูตร นิยมใช้ครีมอองเกร์เป็นส่วนประกอบ โดยจะใส่เจลาตินลงไปเพื่อให้เกิดความเหนียว และนำไปตะล่อมกับครีมที่ถูกตีให้ฟู ผลลัพท์ที่ได้ก็คือมูสเนื้อนุ่มเบา ครีมอองเกร์ทำไม่ยาก แต่ต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ใจร้อนใช้ไฟที่แรงเกินไป เมื่อทำบ่อยเข้าก็จะเกิดความชำนาญ และสามารถดัดแปลงเป็นรสชาติอื่นๆ ได้อีกมากมาย
รักนี้…สีใด What color is your love? รักของฉันก็เปรียบเหมือนช็อกโกแลตที่ถูกเรียงรายอยู่ในกล่อง มีทั้งช็อกโกแลตขาว ช็อกโกแลตนม ช็อกโกแลตดำ และช็อกโกแลตหลากสี ช็อกโกแลตแต่ละสี ก็ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป เหตุที่คนชอบเปรียบความรักเหมือนช็อกโกแลต ก็คงเป็นเพราะว่าช็อกโกแลตเป็นเหมือนอาหารจากสวรรค์ มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ มีความน่าสนใจให้ค้นหา เมื่อได้สัมผัสแล้วก็อยากสัมผัสอีก ความแตกต่างรสชาติของช็อกโกแลตนั้น หลักๆ ก็คงเป็นเรื่องของแหล่งที่มา ชนิดของช็อกโกแลต เปอร์เซ็นต์ความเข้มข้น ชนิดของไขมันในช็อกโกแลต หรือแม้กระทั่งอุณหภูมิที่รับประทาน เมื่อพูดถึงเรื่องของสีช็อกโกแลตก็บ่งบอกถึงเรื่องของชนิดเช่นกัน ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ช็อกโกแลตที่เราหลงรักนั้น ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร ก็เป็นผลิตผลจากเมล็ดโกโก้ (Cocoa Bean) ที่ได้จากต้นโกโก้ (Theobroma Cacao Tree) ธรรมชาติของเมล็ดโกโก้นั้นจะมีรสที่ขมมาก ก่อนที่จะนำมาผ่านขบวนการผลิตเป็นช็อกโกแลตได้นั้น จะต้องนำไปหมักเสียก่อน หลังจากหมักรสชาติต่างๆ ก็จะมีมิติเพิ่มขึ้น หมักเสร็จแล้วก็จะนำไปตากให้แห้ง ทำความสะอาดให้ดี คั่ว พอเปลือกหลุดออก ด้านในของเมล็ดโกโก้จะเป็นส่วนที่เราเรียกว่า โกโก้นิปส์ (Cacao Nibs) มีลักษณะเป็นก้อนแข็งๆ เมื่อนำไปบดเราจะได้ส่วนประกอบที่เรียกว่า โกโก้แมส (Cocoa Mass) ซึ่งเมื่อนำไปผ่านกระบวนการแยกตัว เราจะได้ส่วนประกอบหลักๆ สองส่วนคือ ของเหลวและของแห้ง ของเหลวที่เราได้นั้นอยู่ในสภาพของไขมันจากเมล็ดโกโก้ที่เรียกว่า ไขมันโกโก้ (Cocoa Butter) ส่วนที่เป็นของแห้งนั้นได้แก่ โกโก้โซลิด (Cocoa Solid) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่ใช้มาทำผงโกโก้ (Cocoa Powder) นั่นเอง เมื่อเราพอเห็นโครงสร้างแล้ว เรามาดูกันดีกว่าว่าช็อกโกแลตแต่ละสี แต่ละชนิดนั้น เขามีส่วนประกอบอะไรบ้าง ช็อกโกแลตขม (Unsweetened Chocolate / Baking Chocolate / Bitter Chocolate) จะเป็นช็อกโกแลตที่มีสีเข้มมาก เหมาะที่จะนำไปเป็นส่วนประกอบในการอบขนมมากกว่าที่จะรับประทานโดยตรง ช็อกโกแลตประเภทนี้ มีส่วนผสมหลักคือ โกโก้แมส (Cocoa Mass) และไขมันโกโก้ (Cocoa Butter) ในปริมาณที่สามารถทำให้ช็อกโกแลตมีรูปทรงที่อยู่ตัว และใช้งานได้ง่าย ช็อกโกแลตดำ (Dark Chocolate / Sweet Chocolate) จะคล้ายกับช็อกโกแลตขม เพียงแต่มีส่วนผสมของน้ำตาลทราย และมีสัดส่วนของไขมันโกโก้ที่มากกว่า ซึ่งทำให้มีเนื้อสัมผัสที่นุ่ม สามารถรับประทานโดยตรงได้ ช็อกโกแลตนม (Milk Chocolate) คือช็อกโกแลตดำที่มีส่วนผสมของนมผงเพิ่มเข้าไปนั่นเอง ช็อกโกแลตขาว (White Chocolate) เป็นช็อกโกแลตที่ไม่มีส่วนผสมของโกโก้แมส (Cocoa Mass) เลย จะมีก็เพียงแต่ส่วนประกอบของนมผง น้ำตาลทราย และไขมันโกโก้ (Cocoa Butter) เท่านั้น นอกจากชนิดของช็อกโกแลตแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าอุณหภูมิที่เรารับประทานช็อกโกแลตก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกันนะครับ ธรรมชาติของไขมัน เมื่ออยู่ที่อุณหภูมิที่ต่ำมากจะมีลักษณะที่แข็งเกิน อาจจะทำให้เราไม่สามารถสัมผัสกับความหอมละมุนได้ ช็อกโกแลต…ความรัก ก็เหมือนสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ วัน เลือกที่ใช่ ลิ้มลองที่ชอบนะครับ
ดอกไม้สวยๆ บางที่อาจจะมากับหนามคม เหมือนจะเป็นสัญญาณบอกเราว่า ในสิ่งที่สวยงาม ก็มีด้านที่ให้พึงระวังอยู่ และในวันนี้ ฉันอยากจะพูดถึงวานิลลากลิ่นหอม ที่ไม่ว่าฉันหรือใครๆ ก็มักมีติดครัว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบฝัก หรือวานิลลาแบบสกัดใส่ในขวดสีเข้มที่พร้อมใช้งานได้ทันที ด้วยความหอมของวานิลลาที่ฉันชื่นชอบ ทำให้ฉันใช้วานิลลาเป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มมากมาย นอกจากของหวานต่างๆ ที่ต้องใส่วานิลลาแล้ว ฉันก็มักจะใส่วานิลลาในเครื่องดื่มร้อน เครื่องดื่มเย็น ซอสหวานต่างๆ ที่ฉันทำไว้แต่งหน้าขนม ฉันใช้วานิลลาเป็นจำนวนมากจริงๆ จนฉันเกิดคำถามในใจว่า เจ้าวานิลลาที่หอมหวาน จะเป็นเหมือนดอกไม้งามที่มีหนามคมหรือไม่ ฉันจึงเริ่มที่จะทำการค้นหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และสิ่งที่ฉันได้พบ ก็คือ วานิลลาที่ฉันหลงใหล นอกจากจะมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีประโยชน์มากมายเหลือเกิน และนี่คือเรื่องราวที่ฉันอยากจะแบ่งปันกับคุณ วานิลลามีคุณสมบัติที่สามารถลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ทำให้คุณรู้สึกสบายท้อง คนส่วนใหญ่มักมีวานิลลาพกติดครัวที่บ้าน แต่อาจจะไม่มียาแก้ปวดท้อง เวลาที่คุณรู้สึกมวนท้อง ลองหยอดวานิลลาสักสองสามหยดลงในน้ำสะอาด จิบช้าๆ กลิ่นหอมที่ผสมกับน้ำจะทำให้คุณรู้สึกสบายท้องมากขึ้น มีข้อมูลวิจัยที่กำลังทำการศึกษาอยู่ว่า กลิ่นหอมของวานิลลามีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก รายละเอียดที่แน่ชัดยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการควบคุมน้ำหนักต้องมาจากการควบคุมอาหาร แต่ก็คงดีไม่น้อย ถ้ากลิ่นหอมของวานิลลาจะมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนักของคุณบ้าง กลิ่นหอมของวานิลลานั้น สามารถช่วยลดความเครียดและคลายความกังวลได้ มีตัวอย่างที่ศึกษาไว้ว่าวานิลลาสกัดสามารถช่วยคนที่กำลังมีความเครียดได้ การดื่มน้ำหรือนมร้อนๆ สักแก้วที่มีส่วนผสมของวานิลลาจะทำให้ความเครียดน้อยลง และอย่างที่เราทราบ ความเครียดความกังวลใจสามารถนำพาเราไปสู้โรคภัยไข้เจ็บได้มากมาย มีบันทึกว่า วานิลลาสามารถรักษาแผลเปิดได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจจะฟังดูพิกล แต่ในความจริงก็เป็นเรื่องที่กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นความจริงอย่างไร แหล่งข้อมูลบางแหล่งบอกว่าการใช้วานิลลาในการรักษาแผลที่เปิดมาก ดูเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเสียเท่าไรนัก ส่วนตัวฉันเองนั้นคิดว่า สำหรับคนที่ไม่ชอบใช้ยาปฏิชีวนะ และไม่มีชุดปฐมพยาบาลอยู่ในบ้าน การเลือกใช้วานิลลาในยามฉุกเฉิน ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งให้พิจารณาได้ วานิลลาช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ สำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาประจำเดือนมาขาดๆ หายๆ แน่นอนว่าการรับประทานยาที่แก้ปัญหาโดยตรงอาจจะดูเป็นทางแก้ที่เหมาะสมมากกว่า แต่สำหรับคนที่มีอาการไม่รุนแรง การบริโภควานิลลากับน้ำเล็กน้อย ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่แก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน แม้ว่าวานิลลาสกัดจะไม่สามารถรักษาโรคร้ายแรงได้ แต่คุณประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ที่กล่าวมาก็ทำให้คุณเห็นว่า วานิลลาหอมๆ ก็มีคุณค่าพอที่จะมีติดประจำครัวคุณไว้เสมอ
ช็อกโกแลตชิพคุกกี้สูตรดั้งเดิม The Original Chocolate Chip Cookies จากที่ผมเคยเขียนบทความเล่าเรื่องที่มาของช็อกโกแลตชิพในบทความเรื่อง “Chocolate Chip….a little SOMETHING” แล้วได้อ้างถึงที่มาของความบังเอิญที่นาง Ruth Wakefield ภรรยาเจ้าของ Toll House Inn ได้ค้นพบช็อกโกแลตชิพคุกกี้ด้วยความบังเอิญในปี 1930 แล้วนี่คือสูตรช็อกโกแลตชิพคุกกี้สูตรนั้น ผมได้ปรับสูตรให้เล็กลง และปรับเปลี่ยนอุณหภูมิให้เหมาะกับเตาอบของบ้านเรา อ่านสูตรให้ละเอียดแล้วสัมผัสกับประวัติศาสตร์ของคุกกี้ยอดนิยมนะครับ · เนย 125 กรัม · น้ำตาลทรายแดง 75กรัม · น้ำตาลทราย 85 กรัม · ไข่ไก่ 1 ฟอง · เบกกิ้งโซดา ½ ช้อนชา · แป้งสาลี 150 กรัม · เกลือ ½ ช้อนชา · ถั่ววอลนัท (สับ) ½ ถ้วย · ช็อกโกแลตชิพ 170 กรัม · วานิลลา 1 ช้อนชา · ร่อนแป้งสาลี เบกกิ้งโซดา และเกลือ พักไว้ · ตีเนยด้วยหัวตีใบไม้ให้นุ่มขึ้น ใส่น้ำตาลทั้งสองลงไป ตีให้เข้ากันดี ค่อยใส่ไข่และวานิลลาลงไป พอเข้ากันดี ก็ใส่ส่วนผสมของแห้งลงไป ลดความเร็ว · พอเข้ากันดีแล้วจึงใส่ช็อกโกแลตชิพและวอลนัทลงไป · ตักส่วนประกอบด้วยช้อนชา ปั้นเป็นก้อน วางลงบนถาดที่รองด้วยกระดาษไข แล้วเอามือชุบน้ำบางๆ กดให้แบนลงเล็กน้อย นำเข้าอบที่ 190 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 ถึง 12 นาที เคล็ดลับในการอบช็อกโกแลตชิพคุกกี้ของนาง Ruth Wakefield แบบที่นางทำที่ Toll House Inn นั้น ก่อนอบ ตัวคุกกี้โดจะถูกนำไปแช่เย็นค้างคืนก่อน การแช่เย็นจะช่วยทำให้คุกกี้มีรสหวานมันมากขึ้น และรูปทรงเวลาที่อบก็จะออกมาสวยกว่า การแช่เย็นสามารถทำได้ถึง 2-3 วันล่วงหน้าก่อนอบ คุกกี้ที่ได้ควรมีสีออกน้ำตาล ไม่ใช่สีอ่อน และไม่นิ่ม และนี่ก็คือรสชาติของต้นกำเนิดช็อกโกแลตชิพ ที่พลนำมาเล่าสู่กันฟังครับ ที่มา: TOLL HOUSE Tried and True Recipes โดย Ruth Graves Wakefield
ถ้าจะพูดถึงจันทน์แปดกลีบ หลายคนอาจจะฟังดูไม่คุ้นชื่อเท่าไรนัก แต่ถ้าบอกว่าโป๊ยกั้ก ก็คงจะคิดภาพออกทันที โป๊ยกั้กเป็นเครื่องเทศที่มีผลลักษณะเป็นรูปดาว ต้นมีขนาดเล็ก ไม่ผลัดใบ มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ชาวจีนเชื่อว่า การรับประทานโป๊ยกั้กช่วยเรื่องระบบการย่อย การขับลม ขับเสมหะ รักษาอาการเหน็บชา ปวดหลัง ท้องผูก ไส้เลื่อน ปัสสาวะขัด รวมถึงมีงานวิจัยบอกว่า สารสกัดจากโป๊ยกั้กสามารถป้องกันโรคไข้หวัดนกได้ด้วย ถ้าคนตะวันตกนิยมใช้ใบกระวานในการปรุงอาหาร คนตะวันออกก็นิยมใช้โป๊ยกั้ก โดยเฉพาะในอาหารจีน อาหารเวียดนาม อาหารมาเลย์ อาหารอินโดนีเซีย และอาหารอินเดีย โป๊ยกั้กจะสามารถเพิ่มความหอมให้กับซุป สตูว์ หรืออาหารที่ต้องนำไปตุ๋นนานๆ อาหารเหล่านี้ ก็จะใส่โป๊ยกั้กลงไปทั้งดอก ส่วนโป๊ยกั้กที่อยู่ในรูปแบบป่น ก็เป็นหนึ่งในส่วนผสมหลักของผงพะโล้ของจีน เครื่องเทศกาแรมมาสซาร่าของอินเดีย เป็นต้น โป๊ยกั้กมีกลิ่นหอมและรสชาติละม้ายคล้ายชะเอม กลิ่นหอม หวานอ่อนๆ ให้ความเผ็ดร้อนเล็กน้อย นอกจากที่จะปรุงอาหารแล้ว โป๊ยกั้กยังสามารถนำไปทำขนมอบ ขนมปัง ลูกกวาด หรือแม้กระทั่งปรุงน้ำเชื่อม เครื่องดื่ม ไอศกรีมต่างๆ นอกจากโป๊ยกั้กจะอยู่ในรูปของผล หรือผงที่ป่นแล้ว ยังมีโป๊ยกั้กสกัดในรูปแบบของน้ำ ใช้งานได้ง่าย เหมาะกับการนำไปทำเครื่องดื่ม หรือเบเกอรี่ ตัวอย่างเช่น แครกเกอร์ คุกกี้ พุดดิ้ง บิสคอตติ สโกน หรือ แม้แต่นำไปเชื่อมผลไม้ มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายๆ คน คงอยากที่จะลิ้มลองรสของขนมที่มีส่วนประกอบของโป๊ยกั้กแล้ว ลองเปิดใจสัมผัสกับรสชาติใหม่ แบบที่เราอาจจะยังไม่คุ้นเคย แต่ก็เป็นแบบที่เราอาจจะตกหลุมรักได้เช่นกัน และนี่ก็คือ คุกกี้โป๊ยกั้ก น้ำมันมะกอก 5 ช้อนโต๊ะ เมล็ดเทียนข้าวเปลือก 2 ช้อนชา แป้งสาลีอเนกประสงค์ 200 กรัม น้ำตาลทราย 75 กรัม + โรยหน้า อบเชยป่น 2 ช้อนชา ผิวส้ม 1 ผล กลิ่นโป๊ยกั๊ก 1 ช้อนชา ไข่ไก่ 1 ฟอง ตั้งเตาอบที่ 180 องศาเซลเซียส เตรียมถาดอบรองกระดาษไข ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันมะกอก นำเมล็ดเทียนข้าวเปลือกไปผัดกับน้ำมันให้หอม ประมาณ 30 วินาที ร่อนแป้งกับผงอบเชยลงในชามผสม ใส่น้ำตาลทรายลงไป คนให้เข้ากันดี แล้วใส่น้ำมันกับเมล็ดเทียนข้าวเปลือกลงไป คนพอเข้ากัน ใส่ผิวส้มลงในส่วนผสม ผสมน้ำ 3 ช้อนโต๊ะกับกลิ่นโป๊ยกั้ก แล้วจึงค่อยใส่ลงไปจนส่วนผสมสามารถจับตัวกันได้ (ถ้าแห้งไป สามารถใส่น้ำเพิ่มได้) นำส่วนผสมมาคลึงเป็นแท่งกลมหนา 1 นื้ว แล้วใช้มีดหั่นให้มีความหนาประมาณ ¼ นิ้ว วางลงบนถาดอบ ตีไข่ แล้วใช้แปรงทาที่หน้าคุกกี้ โรยน้ำตาลเล็กน้อย นำเข้าอบจบกรอบและสีเหลืองทอง ประมาณ 15 นาที พักคุกกี้ให้เย็นลง พร้อมรับประทาน
End of content
No more pages to load