#พลอยากเล่า #เด็กวัยเรียน สมัยเพิ่งจบทำงานย่านสีลม กิจกรรมของพลช่วงบ่ายต้นๆ คือการลงจากออฟฟิศมาหน้าโรงเรียนก่อนเด็กเลิกเรียน มาซื้อขนมกิน พลรู้สึกว่าขนมหน้าโรงเรียนคือ Street Food ที่สะอาด เพราะขายเด็ก ถ้าสกปรกไม่ถูกสุขลักษณะ ผู้ปกครองหรือครูคงไม่ให้ขาย ที่ชอบซื้อก็จะมีพวกลูกชิ้นทอด หมูทอด ปีกไก่ทอด และโตเกียว ไม่มีสาระเท่าไร แค่อร่อยก็พอ ทีนี้ ถ้าเราจะพิจารณาว่าถ้าเราเป็นผู้ปกครอง เราจะให้ลูกหลานกินอาหารเหล่านั้นหรือเปล่า นิยามของเด็กวัยเรียนในทางโภชนาการ หมายถึงช่วงอายุเด็กที่เรียนประถม เริ่มต้นที่ 7-12 ขวบ เรียกว่าเป็นเด็กที่กำลังโตเข้าวัยรุ่นเลย เด็กวัยเรียนมีความต้องการสารอาหารค่อนข้างสูง แต่มีกระเพาะอาหารที่เล็ก กินอาหารได้ปริมาณน้อย จึงควรเลือกแต่อาหารที่มีคุณค่าอาหารสูง เด็กกำลังเจริญเติบโตต้องใช้พลังงานมาก ต้องกินอาหารที่ให้พลังงานสูง เด็กชายช่วงอายุ 7-10 ปี อาจใช้พลังงานสูงกว่าแม่ด้วยซ้ำ วัยนี้เป็นช่วงสะสมมวลกระดูก ต้องได้แคลเซียมเพียงพอ ควรดื่มนมวันละสองแก้วเพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาโรคเกี่ยวกับกระดูกในช่วงต่อมาของชีวิต ควรออกกำลังกายที่มีลักษณะกระโดด มีการกระแทกเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กระดูก เด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กมากกว่าเด็กชาย เด็กที่ไม่กินผักไม่กินอาหารเช้า อาจมีความเสี่ยงที่จะขาดโฟเลตซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต โดยรวมเราจะเห็นว่า เด็กมีปัญหาเรื่องอ้วน เพราะติดกินหวาน แม้แต่นม เด็กก็ไม่คุ้นกับการกินนมจืด บ้านเราน่าจะเป็นไม่กี่ประเทศที่มีขายนมแถบเขียวที่เป็นนมใส่น้ำตาล พลเคยมีโอกาสไปสอนเด็กทำอาหารที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นถือเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเลยก็ว่าได้ เห็นอาหารที่เด็กๆ เลือกซื้อกินแล้วก็เป็นห่วงเหมือนกัน นมกล่องที่อยู่ในตู้เย็นไม่มีนมจืดเลย อาหารว่างที่เด็กเลือกซื้อจะเป็นอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แซนวิชแฮมชีส แซนวิชปูอัด หมูฝอยกับข้าวเหนียว เท่านี้จริงๆ เห็นแล้วก็อดห่วงไม่ได้ ผักผลไม้ไม่มีเลย แต่ก็จะมีโรงเรียนทางเลือกแบบที่ดูแลโภชนาการอาหารของเด็กเหมาะสม แต่จะเป็นส่วนน้อย เด็กวัยเรียนควรทานอาหารให้ครบสามมื้อ และจะดีมากถ้ามีมื้อย่อยๆ เนื่องจากกระเพาะอาหารเล็กกินได้จำกัด ไม่ควรยัดเหยียดให้เด็กกินเยอะๆ ในมื้อเดียว สอนให้เด็กกินอาหารที่หลากหลาย อย่าให้ตกร่องอยู่กับอาหารแค่บางอย่างที่เด็กชอบ พยายามอย่าให้เด็กกินอาหารติดหวาน เพราะจะติดไปจนโต และที่สำคัญให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอให้เพียงพอนะครับ เด็กวัยเรียนคือช่วงรอยต่อที่สำคัญ ดูแลดีๆ ดูแลกันไปนะครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP16 :โภชนาการเด็กวัยเรียน”
#พลอยากเล่า ชีวิตติดจอทำให้เราอ้วนได้โดยไม่รู้ตัว ทุกวันนี้พยายามจัดสรรเวลาให้เหมาะสม ออกกำลังกายทุกเช้า เวลาทำงานก็ต้องพักกินข้าวให้ตรงเวลา ไม่กินไปทำงานไป เพราะในที่สุดก็จะไม่มีอะไรที่ได้คุณภาพสักอย่าง แต่ก็ยังมีบางช่วงเวลา อย่างเช่นก่อนนอนที่จะใช้เวลาอยู่กับการดูทีวี และแน่นอนที่ขาดไม่ได้ ก็คือขนมขบเคี้ยวที่ช่วยเติมเต็มความบันเทิง โชคดีที่พลเป็นคนนอนเร็ว พอถึงเวลานอนก็จะปิดทีวีและไปนอน แต่เชื่อว่ามีหลายๆ คนที่ไม่สามารถหลุดออกจากหน้าทีวีได้ อย่างที่เรียกว่า รากงอก หรือฝรั่งเขาก็จะเรียกว่า Coach Potato อารมณ์เหมือนนั่งกินอยู่กับที่จนตัวกลมเป็นหัวมันฝรั่งไปเลย ต่างประเทศเขามีงานวิจัยความเชื่อมโยงการดูทีวีกับโรคอ้วน เนื่องจากเรานั่งนานๆ ไม่ขยับตัวเท่าไร ถ้าเราลองสังเกตจะเห็นว่า เมื่อมีฉากกินอาหาร เราก็อยากจะลุกไปหยิบอะไรมากินตาม หรือบางครั้ง เรากินจากความเคยชิน อย่างเวลาดูหนัง เราก็จะต้องมีข้าวโพดคั่วและน้ำอัดลม มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้จริงๆ เพราะภาพรสในหัวมันเป็นอย่างนั้น ต่อให้ที่บ้านมีโฮมทีวี เราก็จะขอสร้างบรรยายกาศให้เหมือนไปโรงหนังโดยการมีถังข้าวโพดคั่วส่วนตัวและน้ำอัดลมแก้วใหญ่ไว้ด้วย ต่างประเทศเขามีทำแบบสอบถามอาหารบริโภค (Food Frequency Questionaire) ออกมา โดยหลักๆ สิ่งที่เราต้องพิจารณามีสามอย่างก็คือ อาหารที่เลือก (Food Choice) เราเคยพูดถึงอาหารที่เรียกว่า Empty Calories ไปแล้วครั้งหนึ่ง เป็นสิ่งที่พลอยากพูดอีก และจะย้ำไปเรื่อย คำว่า Empty มันสื่อถึงความว่างเปล่าในเรื่องของสารอาหาร Empty Calories ก็คืออาหารอะไรก็ตามที่เรากินเข้าไปแล้วได้แต่พลังงาน ส่วนสารอาหารนั้นน้อยมากถึงมากที่สุด ถ้าถามพลว่ากินได้ไหม พลว่ากินไปเถอะ แต่!!! ต้องให้มันเป็นส่วนน้อยที่สุดของโภชนาการของเรา เพราะมันไม่ให้อะไรกับเราเลย พลชอบกินมันฝรั่งอยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งเมื่ออ่านที่หน้าซอง ถ้ากินหมดทั้งซอง เราจะได้พลังงานไปแล้วประมาณ 500 Kcal นั่นหมายความว่า ถ้าพลกินมันฝรั่งนี้ 4 ห่อ วันนั้นพลได้รับพลังงานครบ 2000 Kcal ไปเรียบร้อย ในขณะเดียวกัน โซเดียมพุ่งทะลุเพดานบ้านไปเรียบร้อย ดังนั้น อาหารที่เลือก จึงเป็นเรื่องสำคัญ เราอาจต้องพยายามฝึกที่จะปรับของว่าง อาหารการกินให้มีสาระทางคุณค่ามากขึ้น สิ่งที่สองที่ต้องคำนึงก็คือ ความถี่ กินบ่อยแค่ไหน และสิ่งสุดท้ายก็คือเรื่องของปริมาณ ทั้งหมดทั้งมวลส่วนตัวพลคิดว่าอยู่กับเรื่องของสติ ถ้าเรามีวินัย ทำอะไรทีละอย่าง ไม่ทำงานไปกินข้าวไป ดูทีวีไปกินข้าวไป ทำอะไรให้มันเป็นระบบระเบียบ ชีวิตเราก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมของเราได้ ตัวเลือกก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ก่อนกินอะไร ก็หยิบขึ้นมาพิจารณา มองให้ทะลุถึงสิ่งที่เราจะได้รับ ก่อนลาจากกัน พลขออวยพรให้ทุกคนมีความสุขกับการกิน รวมถึงมีสุขภาพที่แข็งแรงจากอาหารที่เลือกครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP15 :ชีวิตติดจอ”
#พลอยากเล่า #สูงอายุคุณภาพ #แก่เก๋า ตอนเด็ก คิดอะไรบ้าๆ บอๆ บอกกับตัวเองว่าอายุ 30 เมื่อไร ขอตายแล้ว ตอนอายุน้อยเห็นผู้ใหญ่เดินช้า กินข้าวช้า ทำอะไรช้าๆ ทำให้กลัวแก่ ไม่เข้าใจว่าคนแก่เขามีชีวิตอยู่ได้ยังไง คิดว่าถ้ามีชีวิตอยู่โดยเดินเหินไม่คล่องต้องแย่แน่ๆ เล่าถึงตรงนี้แล้วอยากกลับไปเขกกบาลตัวเอง ในวันที่ใช้ชีวิตมามาถึง 4 รอบ อีกแค่รอบเดียวก็เป็นผู้สูงอายุแล้ว แต่ยังรู้สึกรักตัวเองอยู่เลย และรักขึ้นทุกวัน และยังรู้สึกว่ายังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมาก พลว่าคนเรามีความสุขได้ในทุกวัย สุขให้สมวัยมันก็สุขแล้ว ผู้สูงอายุเป็นภาวะที่เปราะบาง ต้องใส่ใจเรื่องโภชนาการ ผู้สูงอายุมีทั้งแบบที่แข็งแรงคล่องแคล่ว ในขณะที่อีกจำนวนหนึ่งอาจจะมีปัจจัยผิดปกติ เช่น มีโรคประจำตัวเล็กน้อย ไปจนขั้นรุนแรงที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง โภชนาการที่ดีมีความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีนานเท่านานเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ ความต้องการทางโภชนาการของผู้สูงอายุก็แตกต่างกันไปตามการใช้ชีวิต และสภาพความสมบูรณ์ของร่างกาย โดยทั่วไป ผู้สูงอายุควรจะรับประทานอาหารที่ลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และมะเร็ง เช่น กินอาหารประเภทแป้งที่มีคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูง (ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท) อาหารที่ไขมันต่ำ และรับประทานผักผลไม้ให้เพียงพอ และด้วยกิจกรรมที่ลดลงทำให้ความต้องการพลังงานลดลง และความอยากอาหารลดลง ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะกินน้อยลงด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น ความต้องการสารอาหารที่จำเป็นพวกวิตามินแร่ธาตุต่างๆ นั้น ยังเหมือนเดิม อาหารที่เลือกกินจึงควรเป็นอาหารที่มีสารอาหารมากนั่นเอง เมื่อถึงอายุหนึ่ง ผู้สูงอายุจะกลับมากินเหมือนเด็กอีกครั้ง กินอาหารที่กลืนง่ายไม่แข็งเกิน ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดทุพโภชนาการเมื่อมีภาวะอื่นเข้ามาในชีวิต เช่น ความเจ็บป่วย ปัญหาทางกายภาพ หรือปัญหาทางจิต เช่น อาการซึมเศร้า หรือการต้องสูญเสีย เช่น คู่ชีวิตเสียก่อน ภาวะดังกล่าวจะทำให้กินนอนไม่ได้ ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารไม่ดี ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทุกวันนี้ผู้สูงมากอยู่มีมากขึ้นทุกวัน ในเชิงของธุรกิจ ส่วนตัวเชื่อว่าผู้สูงอายุเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่ควรให้ความสำคัญ โดยทั่วไป ผู้หญิงจะอายุยืนกว่าผู้ชาย อย่างที่ญี่ปุ่น กรณีที่ภรรยาตายก่อนสามี สามีก็จะมีปัญหาการใช้ชีวิต เพราะทำอาหาร ทำงานบ้านไม่เป็น และการไม่คุ้นเคยกับการอยู่คนเดียว คนเหล่านี้ ก็ต้องเริ่มเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่างตอนอายุมาก พลคิดว่าการเข้าใจการใช้ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ เรารู้ว่าเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง ความเสื่อมของร่างกายเราก็เหมือนกัน ต้องใช้อย่างถนอม ไม่เคยออกกำลังกาย ก็ต้องบังคับตัวเองบ้าง สังคมก็สำคัญ มีเพื่อนดีๆ มีคนสนิทใจที่เราจะพูดคุยระบายได้ มีไม่ต้องเยอะ แต่ต้องมี สิ่งเหล่านี้ทำในวันเดียวไม่ได้ ต้องค่อยๆ สะสม บางครั้ง เราอาจจะต้องบังคับตัวเองให้ทำงานน้อยลง และแบ่งเวลาให้กับสิ่งที่เราควรจะทำบ้าง ให้ค่ากับสิ่งที่มีค่า แม้วันนี้ยังจะไม่เห็นค่า แต่ถ้าเรารู้ว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็น แล้วจะรออะไรอยู่ล่ะ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP14 :สูงอายุคุณภาพ”
ลูกเป็นสมบัติล้ำค่าของพ่อแม่ อย่างที่เคยเล่าก่อนหน้านี้ว่า โภชนาการของทารกตั้งแต่เกิดไปถึงในช่วงวัยเตาะแตะ ถือเป็นช่วงที่เปราะบางต้องให้ความใส่ใจ เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าเด็กรับอาหารที่ไม่ถูกต้องในช่วงนี้จะมีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ร่างกายแคระเกร็น และอาจไม่สามารถกู้กลับได้ในอนาคต นอกจากทารกที่ถือเป็นช่วงเปราะบางแล้ว ยังมีภาวะของหญิงตั้งครรภ์ที่จัดว่าเป็นช่วงเปราะบางเช่นกัน เด็กจะเกิดมาสมบูรณ์แข็งแรงได้ ผู้หญิงต้องมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงระหว่างตั้งครรภ์ และหลังตั้งครรภ์ในช่วงให้นมด้วย อ.เรวดี นักโภชนาการ เล่าว่าผู้หญิงไทยโดยเฉลี่ยอ้วนกว่าผู้ชาย เมื่อต้องการมีบุตรควรปรึกษาวางแผนกับแพทย์เพื่อให้มีสุขภาพและความพร้อมอย่างแท้จริง ปัจจุบัน แพทย์และพยาบาลแผนกสูตินารีเวชจะได้รับการอบรมพื้นฐานเพื่อให้มีความรู้ด้านโภชนาการที่สามารถให้คำแนะนำกับว่าที่คุณแม่ได้ เพราะภาวะอ้วน นอกจากจะทำให้ผู้หญิงมีลูกยาก พอตั้งครรภ์ก็เสี่ยงกับครรภ์เป็นพิษ เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ น้ำตาลในเลือดสูง และอาจเสี่ยงต่อการแท้งลูกอีกด้วย ในกรณีที่ผู้หญิงผอมหรือน้ำหนักน้อยเกิน ก็ต้องปรับเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสม ในกรณีที่อ้วนเกิน ก็ต้องปรับโภชนาการให้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ครบถ้วนในปริมาณที่เหมาะสมด้วย แม่สร้างลูก ลูกจะฉลาดแข็งแรงอยู่ที่อาหารที่แม่กิน ระหว่างตั้งครรภ์ แม่ต้องสร้างสมองให้กับลูกด้วย DHA แม่จึงต้องกินปลา แม่ต้องกินอาหารที่มีธาตุเหล็กเพื่อสร้างเม็ดเลือด อาหารที่มีแคลเซียมเพื่อบำรุงกระดูก ถ้าไม่ดื่มนม แคลเซียมก็จะถูกดูดไปจากแม่ ทำหญิงตั้งครรภ์มักฟันผุ หรือกระดูกบางหลังคลอด ไม่เคยกินผักก็ต้องกินเพราะช่วงตั้งครรภ์ท้องจะผูก อาหารที่รับประทานทุกคำควรมีคุณค่าทางอาหาร (Nutrient Dense) ถ้าอะไรที่กินแล้วอ้วนอย่างเดียว ไม่ได้ประโยชน์ทางโภชนาการ อย่างน้ำหวาน น้ำอัดลม มันฝรั่งทอด ที่จัดอยู่ในอาหารที่เรียกว่า Empty Calories ซึ่งคือ อาหารที่มีแต่คาร์โบไฮเดรต หรือไขในสูง ในส่วนแร่ธาตุวิตามินสารอาหารต่างๆ แทบไม่มีอะไรเลย อาหารพวกนี้ได้พลังงานอย่างเดียว ไม่ควรเลือกกิน นอกจากรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ครบถ้วนแล้ว ปริมาณก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ปกติถ้ากินอยู่ที่ 1,600 kcal ในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และ 3 (เดือน 4-9) ต้องรับประทานเพิ่มอีก 300 kcal และหลังจากคลอดในช่วงให้นมลูกต้องเพิ่มไปอีก 200 kcal เรียกว่าต้องได้รับพลังงานจากอาหารถึง 2,100 kcal เลยทีเดียว เนื่องจากในช่วงให้นมลูก แม่จะต้องใช้พลังงานมากกว่าปกติ ผู้หญิงจึงไม่ควรลดน้ำหนักทันทีหลังคลอด จะทำให้น้ำนมไม่มีคุณภาพ ถ้าห่วงว่าอ้วนเกิน อาจจะค่อยๆ ลดหลังจากหกเดือนแรก หรือออกกำลังกายให้มาก อย่างที่เกริ่นไปในช่วงต้น ลูกคือสมบัติล้ำค่า ผู้หญิงที่เป็นแม่ต้องเสียสละและอดทนที่จะปรับตัวเองเพื่อให้ตนและลูกมีสุขภาพที่ดีผ่านโภชนาการอาหารที่ถูกต้อง ขอให้ทุกแม่ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงครับ #พลอยากเล่า #แม่สร้างลูก ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP13 : โภชนาการหญิงตั้งครรภ์”
#พลอยากเล่า การเริ่มต้นที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ นักโภชนาการเล่าให้พลฟังว่า กระทรวงสาธารณสุขจะย้ำและให้ความสำคัญกับ 1,000 วันแรกของเด็ก ต้องมั่นใจว่าเด็กต้องได้รับการดูแลที่ถูกต้องเพื่อที่จะมีสุขภาพที่ดีในอนาคต รับการฉีดวัคซีน มีการดูแลป้องกันโรคติดเชื้อ และได้รับโภชนาการอาหารที่ดี ถ้าดูแลไม่ดี เด็กอาจจะมีภาวะผอม แคระแกร็นได้ในอนาคต องค์การอนามัยโรคจะแนะนำให้เด็กกินนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 0-6 เดือน นมแม่คืออาหารหลักที่ดีที่สุด เด็กที่กินนมแม่จะมีภูมิคุ้มกัน ไม่ค่อยแพ้อะไร ซึ่งเด็กสามารถกินนมแม่ได้ถึง 2 ขวบ แต่คุณค่าของนมแม่ก็จะลดลงตามเวลา นั่นคือสาเหตุที่หลังจาก 6 เดือน เด็กต้องได้รับอาหารเสริม ซึ่งควรเป็นอาหารที่ย่อยได้ง่าย หลักๆ ก็คือข้าว ต้องบดให้ละเอียด อาจจะผสมนมแม่ หรือน้ำสต๊อกที่ไม่ปรุงรสก็ได้ นอกจากนั้น ก็ยังมีไข่แดง ตับ แหล่งของธาตุเหล็ก ช่วยสร้างเม็ดเลือดบำรุงสมอง หรืออย่างวิตามินซี เราก็สามารถคั้นส้มแกะเปลือก แล้วป้อนเด็กสดๆ หลักการเตรียมอาหารของเด็กคือ ต้องบดให้ละเอียดเพราะกระเพาะเด็กยังไม่แข็งแรง ที่สำคัญในช่วงขวบปีแรก ต้องยึดนมแม่เป็นอาหารหลัก ส่วนที่ให้เพิ่มเติมถือเป็นอาหารเสริม ช่วงเริ่มต้นควรให้ลองทีละชนิด เผื่อในกรณีที่เด็กมีอาการแพ้ จะได้รู้ได้ว่าแพ้อะไร นักโภชนาการเล่าว่า พวกผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อย่าง สตรอว์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ซึ่งเป็นผลไม้ป่า เป็นอาหารที่ควรจะหลีกเลี่ยงเพราะอาจเกิดอาหารแพ้ได้ง่าย หลังจาก 1 ขวบ เป็นช่วงที่เข้าสู่วัยเตาะแตะ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในวัยเปราะบาง ต้องดูแลอย่างดี เด็กเริ่มลุกขึ้นมาเดินเตาะแตะ มีการเปลี่ยนแปลงทางจิตสังคม เห็นโลกมากขึ้น ชอบเล่น ชอบออกนอกบ้านมากขึ้น เด็กบางคนต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้กระโถน หลายๆ ครั้งก็ไม่สนใจเรื่องกินข้าว เป็นช่วงที่แม่ต้องใช้เวลาดูแล เพราะฉะนั้น แม่ไม่ควรมีลูกติดกันเร็วเกินไป อย่างน้อยควรห่างกันประมาณ 2 ปี มิฉะนั้น แม่จะเอาเวลาไปสนใจน้อง ไม่ดูแลพี่ได้ แม่ควรลุกขึ้นมาทำอาหารให้ลูกกิน อาหารต้องเหมาะกับความต้องการตามวัย พยายามให้เด็กผึกกินอาหารเอง ไม่เอาแต่ป้อน อาจจะทำอาหารในลักษณะที่ใช้มือหยิบจับได้บ้าง เพื่อที่เด็กจะได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อ และต้องระวังไม่ปล่อยหรือตามใจให้เด็กกินแต่ของซ้ำๆ อย่างที่เรียกกันว่า Food Jag คือกินอร่อยแล้ว ก็เลยไม่อยากลองอะไรใหม่อีก นอกจากวัยเตาะแตะ ก็ยังมีวัยผู้สูงอายุ รวมถึงผู้หญิงมีครรภ์ ซึ่งถือว่าเป็นช่วงหรือภาวะที่เปราะบาง ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เดี๋ยวในครั้งหน้า พลจะนำสิ่งที่เราต้องคำนึงและใส่ใจกับหญิงตั้งครรภ์มาฝาก ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP12 : อาหารทารก ประตูสู่อนาคต”
ความหวานให้ความสดชื่น และก็ยังให้พลังงานเพราะถือเป็นสารอาหารคาร์โบไฮเดรต แต่ปัญหาอยู่ที่เราติดหวานเกินไปหรือเปล่า อาหารไทยหลายชนิดมีรสหวานเป็นหลัก อย่างหมี่กรอบ ซอสเปรี้ยวหวาน ซอสผัดไทย แถมเวลาเรากินก๋วยเตี๋ยว เราก็ยังใส่น้ำตาลเพิ่ม พลเองก็ชอบกินหวานเหมือนกัน และจะสังเกตว่าเวลากินอะไรหวานๆ แล้วมักจะวางไม่ลงหยุดไม่ได้ แต่เมื่อเห็นสถิติของคนอ้วนคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน ก็ทำให้ต้องหยุดคิดพิจารณาไม่ตามใจปากตัวเองเหมือนกัน นักโภชนาการเล่าให้ฟังว่าปัจจุบันบ้านเราประสบปัญหาโรคอ้วน 1 ใน 3 ของคนไทยอยู่ในเกณฑ์อ้วน ยิ่งผู้หญิงวัยกลางคนและเด็กในโรงเรียนเอกชนบางโรงเรียนสถิติสูงถึง 1 ใน 2 เรียกว่าไม่สนใจไม่ได้แล้ว อย่างที่กระทรวงศึกษาไม่อนุญาตให้ขายน้ำอัดลมให้เด็ก แต่ถ้าเด็กยังติดหวาน ก็จะเห็นว่าน้ำสมุนไพร น้ำสีน้ำชงต่างๆ ที่ปรุงขึ้นมาขายเด็กๆ ก็ไม่ได้หวานน้อยกว่าเลย ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์ก็จะเห็นว่า ถ้าคนยังกินหวาน พ่อค้าแม่ค้าก็จะหาทางผลิตอาหารเครื่องดื่มมาให้ตรงกับรสที่ลูกค้าชอบให้ได้ ดังนั้น ถ้าเราอยากแข็งแรง ดูแลตัวเองเถอะ การลดหวาน ก็คือลดน้ำตาลซูโครส (Sucrose) และใช้สารให้ความหวานอย่างอื่นมาทดแทน เรียกง่ายๆ ก็คือลดซูโครส แต่ไม่อยากลดรสหวาน จึงเป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมอาหารที่จะพัฒนาสารให้ความหวานออกมาสู่ตลาด อย่างบ้านเราก็จะมีการใช้ขัณฑสกร (Saccharin) ซึ่งก็มีงานวิจัยบอกว่าเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ FDA ของอเมริกาให้ใช้ได้ ส่วน EU ของทางยุโรปกลับไม่ให้ใช้ ปัจจุบัน ก็จะมีหญ้าหวาน ซึ่งมาจากธรรมชาติ และไม่มีรสขมที่ปลายลิ้นด้วย ถ้าจะมองภาพรวม ก็จะเห็นว่าสารทดแทนความหวานบางอย่าง ก็อยู่ในโซนสีเทาดูคลุมเครือยังสรุปไม่ได้ ในฐานะผู้บริโภค พลรู้สึกว่าการหาของมาทดแทน ก็สามารถช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่จะดีกว่ามากถ้าเราสามารถปรับลดการบริโภครสหวานของเรา ดูจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่า พลจะถูกปรึกษาจากคนรอบข้างบ่อยๆ เกี่ยวกับอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนตัวจะแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการมากกว่า แต่เมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกับนักโภชนาการ จึงขอคำปรึกษาและได้คำตอบในภาพใหญ่ๆ มาฝาก ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่กินน้ำตาลแล้วเป็นเบาหวาน มันไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างนั้น แต่เบาหวานมักเกิดกับคนอ้วน ซึ่งคนส่วนใหญ่จะอ้วนเพราะกินหวานนี่แหละ นักโภชนาการบอกว่า คนปกติจะกินน้ำตาลเพิ่มได้ 5% นั่นหมายความว่า ผู้ชายที่ต้องการอาหาร 2,000 Kcal ต่อวัน สามารถกินน้ำตาลเพิ่ม หรือใส่น้ำตาลเพิ่มในโภชนาการต่อวันของเราได้ 100 Kcal ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำตาลทราย 5 ช้อนชานั่นเอง สำหรับคนเป็นเบาหวาน ก็ต้องตัดส่วนนี้ทิ้งไป และก็ระวังที่จะบริโภคอาหารหรือผลไม้ที่มีรสหวานมากเท่านั้น โดยรวมๆ ก็คือ มีโภชนาการเหมือนคนที่ดูแลสุขภาพคนหนึ่ง นั่นคือ กินข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ขนมปังโฮลวีท กินผลไม้ที่หวานน้อย หลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลเพิ่มนั่นเอง และขอทำความเข้าใจว่า น้ำผึ้ง หรือน้ำตาลทรายแดง ที่เราเชื่อว่า มันมีวิตามิน แต่เราก็ต้องรู้ว่า มันก็คือน้ำตาล ถ้าคิดจะหาวิตามินจากความหวานเหล่านี้ นักโภชนาการแนะนำว่า หาจากแหล่งอื่นเถอะ มันไม่ได้เยอะแยะมากมาย ก็ฝากให้คิดเพลินๆ นะครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ “Good Diet EP11 : หวานดี แต่อย่าดีแต่หวาน”
End of content
No more pages to load