ล้างไก่สดควรหรือไม่ สมัยเรียนโรงเรียนสอนทำอาหารฝรั่ง ตอนทำเมนูไก่ เชฟสอนไม่ให้ล้างไก่ หั่นไปก็ใช้กระดาษเช็ดซับกันไป เรียนออนไลน์ที่เป็นเชฟแถบตะวันตก เชฟแยกส่วนไก่ให้ดูเสร็จ ก็รีบล้างมืออย่างจริงจังมาก เคยทำแบบสอบถามวัดระดับความรู้พื้นฐานในการทำอาหาร ก็มาผิดข้อนี้ด้วย เพราะในแบบสอบถามนั้นตอบว่าต้องล้าง งงสิทีนี้ เมื่อศึกษาหาคำตอบ คำตอบที่ได้มาก็คือ ถูกทั้งสองข้อครับ เราต้องดูแล้วแต่สถานการณ์ไปครับ ไก่สดของฝรั่งส่วนใหญ่เขาจะทำความสะอาดมาอย่างดี ก่อนที่จะนำไปแช่แข็ง ทำให้การเกิดเชื้อโรคมีโอกาสน้อย เขาจึงมองว่า ถ้าเรานำไก่ที่สะอาดแล้วมาล้าง อาจจะทำให้เชื้อเซโมนีลล่ากระจายไปกับน้ำ ติดตามเสื้อผ้า ภาชนะ หรืออ่างชำระล้างได้ แต่คำแนะนำนี้ ใช้ในแถบประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่ในบ้านเรา หลังจากไก่ถูกชำแหละ เราไม่ได้แช่แข็ง แต่ไก่จะถูกส่งผ่านพ่อค้าคนกลาง มายังตลาดสด หรือซุปเปอร์มาร์เก็ต บางทีก็มาแพ็คใหม่อีก หรือกองในพื้นที่เปิดให้ตักเอง เพราะฉะนั้น โอกาสที่ไก่จะมีเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรียติดอยู่ตามเนื้อตามหนังก็มีมากกว่า นั่นเป็นเหตุผลที่บ้านเราไม่มีใช้คำแนะนำเหมือนในแถบตะวันตก สรุปก็คือ ดูตามสถานการณ์ไป ถ้าที่มาของไก่ของเราดูน่าเชื่อถือ แพ็คมาแช่แข็ง เราก็ไม่จำเป็นต้องล้าง แต่ถ้ามาในแบบสด ไม่ได้แพ็คมาดี ก็มักจะมีเชื้อติดมาจากเขียงจากมีดอย่างแน่นอน ดังนั้น ก็ควรล้างก่อน และแน่นอนครับ เมื่อเราล้างไก่ เราก็ต้องทำความสะอาดมือ และอุปกรณ์บริเวณที่เราล้างไก่ให้ดีด้วยเช่นด้วยกันนะครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 49 : คำตอบของการล้างไก่สด Should you wash raw chicken?
#กินเจให้แข็งแรงไม่ใช่เรื่องยาก สมัยเด็ก พลจะกินเจทุกปี ไม่กินก็คงอยู่ไม่ได้ เพราะพ่อแม่พี่น้องกินกันทั้งบ้าน โตขึ้นเริ่มทำงานก็มีอิสระมากขึ้น คนในครอบครัวมีทางเลือกของตัวเองมากขึ้น พลก็กินบ้างหลุดบ้างตามโอกาสความเหมาะสมไป ในความคิดเห็นส่วนตัว การละเว้นจากการเบียดเบียนสัตว์เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ทำมากกว่าสิบวันก็ได้ และในมุมของอาหารการกินอยู่ มันก็ทำให้เราทานผักทานผลไม้มากขึ้นด้วย ส่วนตัวเป็นคนที่พยายามจะหลีกเลี่ยงพวกแป้งที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ ด้วยแนวโน้มของอาหารการกินทุกวันนี้ เราควรจะลดอาหารในกลุ่มที่เป็นอาหารแปรรูป เพราะอาหารเหล่านี้ มักโซเดียมสูง และเต็มไปด้วยส่วนผสมเติมแต่ง กินผักให้เป็นผัก กินแป้งที่แปรรูปน้อยๆ เป็นดี จากการพูดคุยกับนักโภชนาการ คนที่กินเจเป็นประจำมีแนวโน้มที่จะขาดธาตุเหล็ก และวิตามินบี 12 แต่ก็ทดแทนได้ด้วยผักสีเขียวเข้มบางชนิด ส่วนในเรื่องของโปรตีนนั้น การกินเจให้เป็น ทำให้เราสามารถได้โปรตีนครบได้ อย่างถั่วเหลืองเองก็โปรตีนไม่ครบ เช่น ขาดเมไทโอนีน หรือข้าวที่ขาดไลซีน แต่เมื่อเราทานทั้งสองอย่างด้วยกัน เราก็จะได้โปรตีนที่ครบถ้วน อาหารเจที่ขายในท้องตลาด มักแป้งเยอะ ผักน้อย เพราะเทศกาลกินเจผักแพง ถ้าตั้งใจอยากกินเจปีนี้ ลองแบ่งสัดส่วนของบางมื้อมาทำอาหารทานเองที่บ้านสิครับ ฝึกตัวเองวางแผนการจ่ายตลาด ซื้อของมาใช้ให้ครบให้หมดไม่มีทิ้ง ใช้น้ำมันที่มีคุณค่าทางโภชนาการในการปรุงอาหาร อย่างบ้านเราก็น้ำมันรำข้าว ถ้าอยู่ต่างประเทศ ก็น้ำมันมะกอก คาโนล่า หรือรำข้าวก็ได้ สุดท้ายต้องไม่ลืมว่าดูแลกาย แล้วก็ต้องดูแลใจด้วย กินให้ครบ อย่าเครียดเกิน รับรองว่า อิ่มทั้งกายอิ่มทั้งใจ แน่นอนครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 48 : กินเจอย่างไร ให้กายใจแข็งแรง How to healthily be vegan?
การดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบใดก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ช่วงที่อยู่บ้านยาวๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็ดูซีรี่ย์เกาหลี เห็นเขากินไก่ กินพิซซ่า กินเบียร์ กินโซจู ก็อยากกินตามดื่มตาม หลายชาติเขาก็มีวัฒนธรรมการดื่มที่ชัดเจน อย่างคนฝรั่งเศสดื่มไวน์ เยอรมันดื่มเบียร์ ญี่ปุ่นดื่มสาเก เกาหลีดื่มโซจู บ้านเราดื่มหมดเลย ทำให้เกิดคำถามว่า การดื่มดีไหม พลลอง Search หาข้อดีของการดื่ม มันก็มีโผล่ขึ้นมาบ้าง ลองอ่านดู ก็เห็นจุดดีบ้าง ล่าสุดเมื่อได้คุยกับนักโภชนาการ จึงได้ขอคำตอบฟันธงของการดื่มแอลกอฮอล์ว่าควรดื่มไหม คำตอบก็คือ ถ้าไม่เคยดื่ม ก็ไม่ควรดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ล้วนให้พลังงาน ซึ่งเราก็สามารถได้พลังงานจากอาหารอื่นๆ ได้ เครื่องดื่มบางชนิดมีสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้คอเลสเตอรอลตัวดีเพิ่มขึ้น ซึ่งเราก็สามารถได้รับสารต้านอนุมูลดิสระเล่านั้นจากการรับประทานอาหารได้เช่นกัน บทความส่วนใหญ่ที่สนับสนุนเรื่องการดื่ม จะระบุปริมาณที่เหมาะสมซึ่งจะแตกต่างกันไปตามชนิดความแรงของเครื่องดื่มนั้น การดื่มในปริมาณที่กำหนด อาจเป็นปริมาณที่ไม่ทำร้ายร่างกายมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม การดื่มเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายเราชิน และสามารถดื่มได้ในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งถ้าเราควบคุมตัวเองไม่ได้ อาจทำให้เรากลายเป็นคนติดเหล้าไปได้ การติดเหล้าหรืออะไรที่ไม่จำเป็นในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี เปลืองเงินแล้วยังเปลืองตับด้วย แค่ไวรัสก็แย่แล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายประจำเยอะขึ้น ไหนจะหน้ากาก ไหนจะแอลกอฮอล์ทำความสะอาดโน่นนี่อีก ทำตัวเองให้เบาๆ ไว้เป็นดีครับ ขอให้ทุกคนสุขภาพกายใจแข็งแรงถ้วนหน้าครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 47 : ดื่มได้ vs ดื่มไม่ดี
จากการพูดคุยกับนักโภชนาการ พลขอสรุปเหตุผลดี ๆ ของการดื่มน้ำให้เพียงพอ ก่อนอื่น ร่างกายเราประกอบไปด้วยน้ำมากมาย ระบบทางเดินอาหาร สมอง เลือด และน้ำลาย ล้วนต้องใช้น้ำ และนอกจากใยอาหาร น้ำก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยเรื่องการขับถ่าย ช่วยให้เราท้องไม่ผูก ร่างกายเราต้องรับน้ำและขับออกในปริมาณประมาณ 3.4 ลิตรต่อวัน น้ำส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่เรากิน อีกส่วนก็มาจากน้ำสะอาด 8-10 แก้ว หรือ 2-2.5 ลิตรต่อวันนั่นเอง เมื่อพูดถึงน้ำไม่มีรสที่เราดื่มกันหลักๆก็จะมีน้ำเปล่าน้ำแร่น้ำอัดแก๊สหรือโซดาซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของน้ำแร่อัดแก๊สก็ได้เช่นกันขอพูดถึงประเด็นแรกในการพิจารณาว่าเราจะเลือกน้ำเปล่าหรือน้ำแร่ดีแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำแร่หลักๆได้แก่แคลเซียมแมกนีเซียมโซเดียมและฟลูออไรด์ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงบางยี่ห้อที่ระบุสัดส่วนของแร่ธาตุต่างๆให้เราได้ทราบและเราต้องเข้าใจก่อนว่าน้ำดื่มไม่ใช่แหล่งที่ดีที่สุดในการรับแร่ธาตุเหล่านี้เช่นนมเป็นแหล่งของแคลเซียมสำหรับคนที่ดื่มนมไม่ได้อาจจะมาดื่มน้ำแร่แทนเพื่อให้ยังได้รับแคลเซียมบ้างแต่สิ่งที่เราอาจต้องตระหนักก็คือถ้าเราต้องควบคุมการรับแร่ธาตุบางชนิดเช่นฟลูออไรด์ในเด็กหรือหญิงตั้งครรภ์เนื่องจากการรับฟลูออไรด์มากเกินอาจะทำให้ผิวฟันมีลักษณะตกกะดังนั้นถ้าฟันของเด็กเคลือบฟลูออไรด์และใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์เป็นประจำเราก็ไม่ควรดื่มน้ำแร่ที่มีสัดส่วนฟลูออไรด์มากเป็นต้น นอกจากการเปรียบเทียบระหว่างน้ำแร่และน้ำเปล่าแล้ว พลอยากพูดถึงเรื่องของโซดาและน้ำแร่อัดแก๊ส เนื่องจากเพื่อนๆ หลายคนน่าจะเหมือนกับพล คือ ลดการดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูง แต่ยังอยากได้ความรู้สึกซ่าๆ ก็เลยหันมาดื่มโซดาแทน ในมุมของนักโภชนาการ โซดาจะมีความเป็นกรดอ่อนๆ แต่ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้กระดูกพรุน ถ้าจะมีผลบ้างอาจจะเป็นเรื่องของฟันมากกว่า ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยการดื่มโดยใช้หลอด ข้อดีของโซดาคือ ทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว ให้ความรู้สึกพิเศษกว่าน้ำดื่ม ข้อเสียคือ สำหรับคนที่ไม่ชอบจะรู้สึกไม่สบายตัวหรือจุกเสียด ทั้งนี้ทั้งนั้นน้ำแต่ละรูปแบบก็มีราคาที่แตกต่างกันไปเลือกที่ดีต่อกายแล้วต้องดีต่อใจสบายกระเป๋าด้วยนะครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 46 : น้ำดื่มกับโซดา Still or Sparkling?
มื้อโกง ดีต่อกายหรือดีใจ จากการได้อ่านบทความของต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องของมื้อโกง (Cheat Meal) ก็จะมีความเห็นที่แตกต่างมากมาย พลเลยยกเรื่องมื้อโกงมาเป็นประเด็นพูดคุยกับนักโภชนาการ บทความที่พลเขียนจึงเป็นมุมมองของนักโภชนาการในเรื่องของมื้อโกง มื้อโกง สื่อความหมายไปในทางลบมากกว่าบวก ในมุมของมื้ออาหาร จึงสื่อถึงมื้ออาหารที่อาจจะประกอบด้วยอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือปริมาณอาหารที่มากเกินไป มื้อโกง จึงเป็นทางเลือกในการปลดปล่อยของคนที่ต้องกินอาหารตามที่นักกำหนดอาหารกำหนด หรือคนที่ต้องการลดน้ำหนัก การกำหนดมื้อโกง มักจะออกแบบเป็นรายสัปดาห์ ในแง่ข้อดี มื้อโกงดีต่อใจแน่นอน เพราะการกินของที่อยากกิน แม้จะเป็นสิ่งที่ตัวเองไม่ควรกินในช่วงเวลานั้น ทำให้มีกำลังใจในการเดินหน้าต่อไป แต่ถ้ามองในมุมของการเผาผลาญ อาจจะเป็นมื้อที่ทำให้ร่างกายงงได้เหมือนกัน อย่างเด็กขาดสารอาหารในบางประเทศ ทำไมถึงมีชีวิตอยู่ได้ ก็เพราะร่างกายเขาปรับให้ชินกับการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ ในมุมของการลดน้ำหนัก เรายังกินอาหารครบหมวดหมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม แต่ในปริมาณที่น้อยลง ช่วงเริ่มต้น เราอาจจะรู้สึกหิวเพราะร่างกายยังไม่ชิน แต่เมื่อทำซ้ำไปเรื่อย ๆ ระบบการเผาผลาญก็จะเริ่มเปลี่ยน การมีมื้อโกงเข้ามาแทรก เป็นเหมือนการบอกร่างกายว่าเราไม่ได้อยู่ในช่วงควบคุมอาหารแล้ว ในมุมมองของนักโภชนาการ มื้อโกงจึงมากับน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น และทำให้ระบบการเผาผลาญเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ นักโภชนาการมองว่า บางทีเราอาจจะไม่ต้องกำหนดมื้อโกงก็ได้ เพราะในการใช้ชีวิตของเรา ก็อาจจะมีบางมื้อแทรกเข้ามาเป็นครั้งคราว เวลาที่เราไปงานเลี้ยงต่าง ๆ ที่เราก็ไม่สามารถกำหนดอาหารด้วยตัวเองได้ สรุปง่ายๆ ก็คือ เราหลอกตัวเองไม่ได้หรอกครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 45 : มื้อโกงดีต่อกายหรือดีใจ
นอกจากรสพื้นฐานในอาหาร ความเผ็ดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เรากินอาหารได้อย่างเอร็ดอร่อยขึ้น ก่อนอื่น ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าความเผ็ดไม่ใช่รส แต่เป็นความรู้สึกร้อนจากสารแคปไซซิน (Capsaicin) ที่มีอยู่ในพริกซึ่งอยู่บริเวณรกหรือแกนของตัวพริก นอกจากมีสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว แคปไซซินยังช่วยทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดดี ลดคอเลสเตอรอลโดยรวม และเพิ่มคอเลสเตอรอลตัวดี ทำให้จมูกโล่ง และเจริญอาหาร อย่างคนที่ลดน้ำหนัก นักโภชนาการมักจะแนะนำให้ทานเผ็ดน้อย เพราะจะได้ไม่ทานเยอะด้วย คนไทยกินพริกเฉลี่ย 8 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือเทียบเท่ากับ 22 กรัมต่อวัน ที่บอกว่าเป็นค่าเฉลี่ย เพราะบางคนก็กินมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับความคุ้นเคยและฝึกกินเผ็ดมาอย่างไร ในมุมของนักโภชนาการ การกินเผ็ดมีแต่ข้อดี แต่สำหรับคนที่มีแผลในปาก หรือเป็นโรคกระเพาะ ก็อาจจะเกิดการระคายเคืองได้บ้าง และที่สำคัญ มีการทำวิจัยว่าพริกจินดาในบ้านเรา มียาฆ่าแมลงสูง ดังนั้น ถ้าเราทำอาหารกินเอง ควรจะล้างผ่านน้ำ หรือปล่อยน้ำไหลผ่านเพื่อลดสารตกค้าง เพื่อทำให้ความเผ็ดที่เรากินนั้น เป็นความเผ็ดที่ดีแท้ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 44 : เผ็ด…ดี
End of content
No more pages to load