สำหรับคนทำขนม คนทำเบเกอรี่ ความหวานคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ ลิน ไม่เคยที่จะหยุดพัฒนาน้ำตาลให้เหมาะกับความต้องการ และชนิดของขนมที่ทำ จากน้ำตาลเบอเกอรี่ มาน้ำตาลไอซิ่ง และวันนี้ เราได้พัฒนาน้ำตาลป่นละเอียด เพื่อตอบอีกโจทก์ของการใช้งาน น้ำตาลป่นละเอียดของลิน อยู่ในซองสีเขียวอ่อน มาในขนาด 900 กรัม มีลักษณะเป็นผงละเอียด เหมาะกับเมนูที่ต้องการน้ำตาลที่มีความละเอียดสูง ทำให้ไม่ต้องคนหรือตีส่วนผสมนาน เป็นน้ำตาลป่นที่ไม่มีส่วนผสมของแป้ง พัฒนามาเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ไม่ชื้นง่าย ไม่จับตัวกันเป็นก้อน เหมาะกับการทำซอส มูส ที่ไม่ต้องกาใช้ความร้อน หรือทำเค้กที่เนื้อเนียน เบา เด้งฟู แล้วยังเหมาะกับการทำไอศกรีมทุกรูปแบบอีกด้วย เมื่อเทียบกับน้ำตาลเบเกอรี่ของลิน ซึ่งอยู่ในซองสีฟ้า น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ในน้ำหนักที่เท่ากัน มึความหวานเท่ากันเปรียบได้เหมือนน้ำตาลอเนกประสงค์ของคนทำขนม คนทำเบเกอร์รี่ มีเกล็ดที่เล็กกลายน้ำตาลทรายทั่วไป แต่ไม่ป่นเท่าน้ำตาลป่นละเอียด ทำงานเบเกอร์รี่ได้ทุกรูปแบบ ตีกับเนยกับไข่ไก่ ใช้เวลาไม่นาน เมื่อเปรียบกับน้ำตาลไอซิ่ง มีความละเอียดเป็นผงเบาไม่แตกต่างกัน บรรจุมาในขนาด 900 กรัมเท่ากัน แต่น้ำตาลไอซิ่งจะมีความหวานน้อยกว่าเล็กน้อย เพราะมีส่วนผสมของแป้งข้าวโพด นิยมใช้ในการตกแต่งโรยหน้าขนมต่างๆ รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของเค้กและคุกกี้ ที่ต้องการได้เนื้อสัมผัสที่ร่วนกรอบ ลิงก์VDO ของหวานอร่อยๆ “มินิพัฟโลวา”
ไม่ว่าในยุคเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรการรู้จักประหยัดบริหารอาหารการกินให้ดีเป็นเรื่องที่สำคัญ มีคนมากมายที่ไม่ได้มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์เหมือนเราจากการได้พูดคุยกับนักโภชนาการ อาหารหมดอายุหลายประเภทถ้าเราเก็บดีๆเช่นในสภาพและอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ยังสามารถรับประทานได้ คุณภาพอาจจะด้อยลงแต่ไม่ได้เสีย อย่างไข่ไก่ถ้าเราซื้อมาและเก็บในตู้เย็นก็จะสามารถยืดอายุได้ นมสดหรือโยเกิร์ตถ้าอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมแม้จะหมดอายุไปสองสามวันก็ยังสามารถรับประทานได้ พลเคยเรียนทำอาหารญี่ปุ่นตอนที่เรียนทำหมูชุบเกล็ดปังทอด ครูก็เล่าว่าเวลาที่เขาทำกันกินในบ้านถ้าไม่กินหมดก็จะแช่เย็นไว้แล้วนำมาทำเป็นข้าวหน้าหมูทอด ซึ่งเป็นเมนูที่ไม่ต้องการความกรอบของเกล็ดขนมปังแล้ว หรืออย่างฝรั่งเวลาที่กินไก่ย่างเหลือก็สามารถเก็บแช่เย็นไว้ นำมาฉีกทำสลัดหรือเป็นไส้แซนด์วิชก็ได้ การเก็บอาหารที่เรากินเหลือในสภาพที่ดีจึงเป็นเรื่องที่ช่วยให้เราประหยัดได้แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย อาหารบางชนิด เก็บได้ดีในตู้แช่ บางชนิด สามารถแช่แข็งได้ ถ้าเราค่อยสังเกต หรือค้นหาข้อมูล เราจะพบว่า เราสามารถประหยัด และแทบจะไม่ทิ้งอาหารอีกต่อไป ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 54 : เก็บไว้กิน Leftover Food
โดยทั่วไป เรามีความรู้สึกว่าการกินของสดใหม่มีประโยชน์มากกว่าอาหารที่มาในลักษณะสำเร็จรูป จริงๆ แล้ว ทุกวันนี้ อาหารที่เรารับประทานนั้น ก็มาในหลากหลายรูปแบบ อย่างข้าว ถั่ว ธัญพืช ก็มาในรูปแบบอาหารแห้ง อย่างผักผลไม้ เราจะทานสดๆ ซึ่งในท้องตลาด ก็จะมีผักผลไม้บางชนิดที่มาในรูปแบบกระป๋อง หรือแช่แข็งด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น ก็ยังมีอาหารกระป๋องอีกหลากหลายชนิด ในสมัยก่อน คนอาจจะมีความกังวลเรื่องสารเคลือบที่อยู่ภายในกระป๋อง ด้วยเทศโนโลยีในปัจจุบัน ปัญหาสารเคลือบกระป๋องก็ไม่มีอีกต่อไป การทานอาหารกระป๋อง หรือ อาหารที่ผ่านการแช่แข็ง ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด ทั้งนี้ พลไม่ได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนให้เพื่อนทานอาหารสำเร็จรูปกันมากขึ้นนะครับ แค่ให้มุมมองอีกด้านเท่านั้น อาหารกระป๋องที่ผ่านการปรุงรสมากๆ ก็ไม่ดีเช่นกัน ทั้งนี้ เราแค่มองในมุมของเทคนิคการถนอมอาหารเท่านั้น บางประเทศ การซื้อผักแช่แข็งมาใช้ไม่ใช่เรื่องแปลก อย่างบร็อคโคลี่ เวลาที่เขาจะแช่แข็ง เขาจะเลือกบร็อคโคลี่ที่อยู่ในสภาพที่ดี ตัดเป็นดอกๆ พร้อมใช้ แล้วนำไปลวกผ่านความร้อน แล้วจึงนำไปแช่แข็ง หรือผักโขม ที่จะมีการปรุงสุกเล็กน้อย แล้วขึ้นรูปแบบเป็นก้อน เพื่อให้สะดวกแก่การใช้งาน ในบางประเทศ ผู้คนดำรงชีพด้วยอาหารเหล่านี้ เวลาที่สภาพภูมิอากาศไม่อำนวยความสะดวกให้เดินทาง เช่น หิมะตกจนเดินทางไม่ได้ ผู้คนก็จะกักตุนของในตู้แช่แข็งไว้ใช้นานๆ เป็นต้น สำหรับบ้านเรา อาหารสด หลายๆ อย่างราคาถูกกว่าแบบแช่แข็งหรือกระป๋อง จึงทำให้อาหารแช่แข็งอาหารกระป๋องหลายๆ อย่างไม่เป็นที่นิยม แต่ในมุมของอุตสาหกรรม เช่น ร้านอาหารหลายๆ ร้าน ก็จะมีการใช้วัตถุดิบในรูปแบบแช่แข็งบ้าง เนื่องจากความสะดวก เมื่อเปรียบเทียบราคาแล้ว ประหยัดกว่าการใช้แรงงานคน อาหารกระป๋องหลายๆ ชนิด มีคุณค่าที่แตกต่างจากแบบสด อย่างเช่น มะเขือเทศกระป๋อง จะมีสารไลโคปีนมากกว่าแบบสด เพราะมีการผ่านความร้อน หรือลูกพีชกระป๋อง มีสี เนื้อสัมผัส และรสชาติแตกต่างจากลูกพีชสด เป็นต้น บ้านเราโชคดี อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ อาหารสำเร็จรูป กึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารบรรจุกระป๋องจึงเป็นทางเลือกที่เราไม่ค่อยนิยม เพราะส่วนใหญ่ก็จะมีราคาที่แพงกว่าด้วย ในมุมมองของพล เลือกแบบสดก่อน สวนที่เหลือค่อยดูไปตามสถานการณ์ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ถ้าสดจะมีราคาแพง เพราะไม่ได้เป็นผลไม้บ้านเรา ซึ่งถ้าเราเอามาทำซอส หรือไอศกรีม ที่ความสดไม่ได้เป็นสาระสำคัญ การใช้แบบแช่แข็ง ก็จะมีราคาถูกกว่าหลายเท่า ก็ลองสังเกตลองเปรียบเทียบให้มากขึ้น เราก็จะได้ของที่มีทั้งคุณภาพ และเหมาะสมกับเงินที่เราใช้ไปครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 53 : ถนอมอาหาร
เคยพูดคุยเรื่องโซเดียมกันไปแล้ว แต่ขอพูดอีก เพราะดูเหมือนจะเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว ทุกอย่างมีสองด้าน ก่อนอื่นมาทำความรู้จักว่าโซเดียมคืออะไร โซเดียม คือ เกลือแร่ มีความจำเป็นต่อร่างกาย เป็นเหมือนตัวกระจายน้ำ ทำหน้าที่รักษาระดับของเหลวภายนอกเซลล์ ทำหน้าที่ช่วยรักษาสมดุลในร่างกาย รักษาความดันโลหิตในอยู่ในระดับปกติ ช่วยการทำงานของประสาทกล้ามเนื้อ สรุปง่ายๆ ก็คือร่างกายเราต้องการโซเดียม ซึ่งแหล่งของโซเดียม มีมากมายหลากหลายมาก ตั้งแต่ โซเดียมที่อยู่ในอาหารธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ถั่วธัญพืชต่างๆ นอกจากอาหารธรรมชาติ โซเดียมก็ยังมีอยู่ในอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง เครื่องปรุงรส ผงชูรส อาหารกระป๋อง ขนมซองๆ ทั่วไป ดังนั้น เราแทบไม่ต้องกลัวว่าเราจะขาดโซเดียมเลย เพราะเราก็น่าจะได้โซเดียมที่เพียงพอจากอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว ที่นี้ เวลาที่เราได้โซเดียมมากเกินไป ไตก็จะทำหน้าที่ขับออก ถ้าขับออกไม่หมดก็จะไปอยู่ในเลือด ดังนั้น เราต้องพยายามปรับเปลี่ยนนิสัยให้ทานเค็มน้อย ปรับที่ลิ้นของเรานี่แหละ อย่าชินกับการใส่เกลือในทุกสิ่งอย่าง ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสมากมายที่พัฒนาสินค้าในรูปแบบโซเดียมต่ำ หรือเค็มน้อย ก็เรียกได้ว่าเป็นอีกทางเลือกให้เราสามารถลดโซเดียมได้ ทั้งนี้ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอ่านฉลากด้วย เพราะบางผลิตภัณฑ์ การลดโซเดียม ผู้ผลิตจะไปเพิ่มโพแทสเซียม ซึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ โรคไต จำเป็นต้องจำกัดปริมาณของโพแทสเซียมด้วยเช่นกัน มาถึงตรงนี้ เพื่อนๆ คงจะมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น และรู้จักกับโซเดียมมากขึ้น ลองฝึกนิสัยให้เราใส่ใจในเรื่องอาหารการกินให้มากขึ้น อ่านฉลาก เลือกอาหาร เลือกที่จะปรุงน้อยๆ เริ่มปรับไปทีละนิดเพื่อสุขภาพที่ดีของเรา เริ่มที่ตัวเอง แล้วก็อย่าลืมดูแลคนใกล้ตัวด้วยนะครับ ขอให้เพื่อนทุกคนมีสุขภาพที่แข็งแรงกันถ้วนหน้าครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 52 : รู้ทันโซเดียมกันหน่อย
นอกจากสุขภาพที่แข็งแรง คงไม่มีใครอยากแก่ อย่างน้อยก็ขอให้ดูสมวัย ไม่เลยหน้าพุ่งไปก่อนอายุจริง ปัจจุบัน คนให้ความสำคัญกับเรื่องการชะลอวัย หรือ Anti-aging แน่นอนว่าความเครียด การพักผ่อนและการออกกำลังกายไม่เพียงพอส่งผลให้เราดูแก่กว่าวัยได้ แต่จากการได้พูดคุยกับนักโภชนาการทำให้พลได้ข้อมูลมาว่า อาหาร คือปัจจัยที่สำคัญที่สุด สมัยเด็ก พลไม่เคยได้ยินคำว่า อนุมุลอิสระ มาก่อน เพิ่งมาได้ยินตอนโตนี่แหละ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่คนรักสุขภาพให้ความสนใจมาก อนุมูลอิสระ (Free Radicle) คือ การที่โมเลกุลหรืออะตอมในร่างกายของเราเกิดการไม่เสถียร เนื่องจากขาดอิเลกตรอน ซึ่งปกติ ร่างกายของเราจะมีโมเลกุลหรืออะตอมที่มีอิเลกตรอนอยู่เป็นจำนวนคู่ ในกรณีที่ร่างกายมีการสูญเสียอิเลกตรอนจากการถูกอนุมูลอิสระแย่งจับ ทำให้โมเลกุลของเซลล์ในร่างกายไม่เสถียร ขาดความสมดุล ทำให้เซลล์ในร่างกายเกิดความเสียหาย พูดง่ายๆ ก็คือ จากภายนอก ผิวหนังก็จะเหี่ยวย่น ถ้าภายในก็จะเป็นเรื่องของอวัยวะต่างๆ สึกหรอนั่นเอง สัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายเราไม่สมดุลได้แก่ การที่เราเริ่มเป็นหวัดบ่อย ภูมิแพ้ต่างๆ มีผื่นง่าย ท้องอืดท้องเฟ้อ หลับยาก อารมณ์แปรปวน พูดง่ายๆ คือ อาการต่างๆ ที่เราไม่เคยมีมาก่อน ก็ค่อยๆ เกิดขึ้น ถ้าเราดูปิรามิดอาหารชะลอวัย (Anti-Aging Food Pyramid) ส่วนที่อยู่ที่ฐานปิรามิด ซึ่งคือส่วนที่สำคัญที่สุดก็คือน้ำ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งได้แก่ พวกธัญพืชต่างๆ ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต เป็นต้น ตามมาด้วย ผลไม้ ผัก ถั่วต่างๆ ไข่ไก่ ปลาน้ำลึก สำหรับส่วนที่อยู่ขึ้นไปบนยอดปิรามิด หรืออาหารที่ก่อให้เกิดอนุมูสอิสระ ได้แก่ พวกเนื้อแดงต่างๆ และที่ยอดของปิรามิด ก็คือ น้ำตาล นั่นหมายความว่า กินน้ำตาลมากทำให้แก่นั่นเอง สรุปคือ ถ้าเราอยากดูเด็ก หรือสมวัย ก็ควรทานหวานน้อย ทานน้ำเยอะๆ เยอะแค่ไหน นักโภชนาการบอกว่า ให้วัดจากพลังงานที่เราต้องการต่อวัน เช่น ถ้าเราต้องการ 1500 กิโลแคล ก็ให้เราดื่มน้ำ 1.5 ลิตร ถ้าเราต้องการ 2000 กิโลแคล เราก็ต้องดื่ม 2 ลิตรผักผลไม้สีต่างๆทานได้เลยล้วนมีสารต้านอนุมูลอิสระทั้งนั้น การดูแลตัวเองด้วยอาหารชะลอวัย ทำได้ตั้งแต่เราอายุ 20 กว่าหรือจะเด็กกว่านั้น ก็ได้ ไม่ต้องรอให้สายเกินแก้นะครับ ขอให้ทุกคนมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงครับ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 51 : การชะลอวัย Anti-aging
ไข่ไก่ แหล่งโปรตีนคุณภาพ ซึ่งมีราคาไม่แพง ลองนึกภาพดูครับ ในไข่ไก่ 1 ฟอง มีโปรตีนเทียบเท่ากับน่องไก่ 1 น่อง ถ้ามองในแง่ของราคา หรือความง่ายในการรับประทาน ไข่ไก่ชนะเลิศ ราคาที่แตกต่างของไข่ไก่มาจากลักษณะการเลี้ยง และอาหาร ในมุมของนักโภชนาการ การเลี้ยงปล่อยอาจไม่ได้ส่งผลให้ไข่ไก่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีกว่าไข่ไก่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงในระบบปิด แต่ในแง่ของการตลาด เราจะรู้สึกดีเมื่อไก่ถูกเลี้ยงปล่อยตามธรรมชาติ ในขณะที่อาหารเลี้ยงไก่ จะส่งผลต่อคุณภาพของไข่ไก่มากกว่า นักโภชนาการเปรียบง่ายๆ ว่า You are what you eat ไก่ได้รับอาหารที่ดีไข่ไก่ก็จะมีคุณค่าที่ดีเช่นกันอย่างสีของไข่แดงที่แตกต่างก็มาจากสีของอาหารที่แตกต่างนั่นเอง เรื่องของขนาดไข่ไก่ บ้านเราจะใช้ตัวเลขเป็นเครื่องบ่งชี้ขนาดไข่ 0-3 ตัวเลขยิ่งน้อย ไข่ยิ่งมีขนาดใหญ่ ในขณะที่บางประเทศจะระบุขนาดเป็น S M L นักโภชนาการเล่าให้ฟังว่า ขนาดของไข่ไก่ มาจากอายุไก่ ไก่สาวจะมีไข่ที่ฟองเล็กกว่านั่นเอง ในความคิดเห็นส่วนตัว เลือกขนาดที่เหมาะกับความต้องการของเราเป็นดีที่สุด คุณค่าอาจจะแตกต่างกับบ้าง แต่ไม่น่ามากจนเป็นสาระสำคัญ การเก็บรักษาไข่ในตู้เย็นจะทำให้ไข่ไก่มีอายุที่นานขึ้น ที่เปลือกไข่มีลักษณะเป็นรูพรุน เวลาที่เราซื้อไข่จึงควรเลือกไข่ไก่ที่เปลือกสะอาด ไม่มีอุจจาระ ดินหรือสิ่งสกปรกติดที่เปลือก ถ้าผิวของเปลือกไข่มีเหมือนแป้งนวลอยู่บางๆ นั่นคือลักษณะของไข่ใหม่ การเก็บไข่ในกล่องปิดและแช่เย็น ทำให้ไข่ไม่ดูดกลิ่นของอาหารอื่นๆ ในตู้เย็น จัดวางไข่ไก่ในกล่องหรือถาดใส่ไข่ โดยหันด้านแหลมลง เนื่องจากด้านที่ป้านหรือด้านที่กว้างกว่า จะมีโพร่งอากาศ ซึ่งโพร่งอากาศนี้จะใหญ่ขึ้นเมื่อไข่เก่าลงเรื่อยๆ ถ้าเราหันด้านที่มีอากาศลงล่าง ตัวอากาศจะพยายามดันขึ้นด้านบน อาจทำให้ไข่ไก่แตกได้ ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่ GoodDiet EP 50 : ว่ากันด้วยเรื่องไข่ไก่ ไข่วิเศษ All about eggs
End of content
No more pages to load