น้ำเชื่อมหวานๆ ซึ่งอาจจะไม่ได้ดูมีความสำคัญอะไรมากนัก แท้จริงแล้วเป็นหนึ่งในส่วนประกอบที่เหล่านักอบขนมต่างๆ หรือคอของหวานควรมีติดตู้เย็นไว้
เพราะน้ำเชื่อม หรือที่ศัพท์ทางเบเกอรี่เรียกว่า Stock Syrup นั้นเป็นส่วนประกอบพื้นฐานที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย ตั้งแต่ใช้แช่ผลไม้เพื่อทำเป็นฟรุตสลัด พรมเค้กเพื่อรักษาความชุ่มชื่น ทำเยลลี่ผลไม้ ทำไอศกรีมซอเบท ปรุงรสหวานให้กับเครื่องดื่ม ทาบนเนื้อผลไม้เวลาที่เราจะนำไปอบแห้ง
น้ำเชื่อมมาตรฐานที่นิยมใช้นั้นมีสัดส่วนของน้ำและน้ำตาลทรายเท่ากัน เช่นถ้าเราใช้น้ำตาลทราย 250 กรัม เราก็จะใช้น้ำ 250 มิลลิลิตร แต่ถ้าเป็นน้ำเชื่อมเข้มข้น เราจะสามารถลดปริมาณของน้ำลงได้ หรือถ้าเราต้องการน้ำเชื่อมที่ใสหน่อย ก็สามารถเติมน้ำเข้าไปได้ตามสัดส่วนที่ต้องการใช้งาน
บ่อยครั้งที่ผิวมะนาวเลมอนจะถูกนำมาใช้ในการปรุงน้ำเชื่อม ในการทำน้ำเชื่อม เราควรที่จะใช้หม้อหรือภาชนะที่มีก้นหนา ตั้งไฟต่ำๆ ใส่น้ำลงไป แล้วจึงค่อยตามด้วยน้ำตาลทรายให้น้ำตาลทรายละลายช้าๆ อาจจะคนเป็นครั้งคราวในกรณีที่จำเป็น
ในกรณีที่ใช้ผิวมะนาวเลมอน ให้ใช้ที่ปอกผัก ปอกผิวออกมาสัก 3 ชิ้นใส่ลงไป แล้วให้น้ำเชื่อมเดือดเบาๆเป็นเวลา 5 นาที พักให้น้ำเชื่อมเย็นลง แล้วกรองใส่ขวด
นอกจากน้ำเชื่อมมาตรฐานแล้ว เรายังสามารถเพิ่มกลิ่นอายความหอมให้กับน้ำเชื่อมได้ด้วยสมุนไพรหรือเครื่องเทศมากมาย โดยให้เราใส่เครื่องให้กลิ่นหอมเหล่านี้ลงตอนจังหวะที่น้ำเชื่อมเริ่มเดือดแล้ว เคี่ยวเป็นเวลา 5 นาทีเหมือนน้ำเชื่อมปกติ และพักให้เย็นลง ในกรณีที่เราใช้สมุนไพรสด เราควรที่จะกรองออกเพื่ออายุของน้ำเชื่อมที่ยาวขึ้น แต่ถ้าเราใช้สมุนไพรหรือเครื่องเทศแห้ง เราสามารถทิ้งไว้ในตัวน้ำเชื่อมได้
ตัวอย่างรสชาติของน้ำเชื่อมที่นิยม
- น้ำเชื่อมวานิลลา ใช้วานิลลา 1 ฝัก หรือ 1 ช้อนชา ต่อน้ำเชื่อม 250 มิลลิลิตร
- น้ำเชื่อมอบเชย ใช้อบเชย 1 ก้าน ต่อน้ำเชื่อม 250 มิลลิลิตร
- น้ำเชื่อมกลิ่นกาแฟ ใช้เมล็ดกาแฟที่คั่วแล้ว 2 ช้อนชา ต่อน้ำเชื่อม 250 มิลลิลิตร เมื่อต้มเสร็จสามารถเพิ่มความหอมด้วยเหล้ารัมสัก 1 ช้อนโต๊ะได้ (ถ้าต้องการ)
- น้ำเชื่อมกลิ่นตะไคร้ ใช้ตะไคร้ 1 ต้น ต่อน้ำเชื่อม 250 มิลลิลิตร