กระโดดยางสร้างกระดูก

Food Fact 2 December 2019

#พลอยากเล่า #กระโดดยางสร้างกระดูก ทำไมผู้ใหญ่บางคนแค่ล้มบนพื้นราบกระดูกก็หัก นักโภชนาการให้เราดูแลตัวเองในทุกช่วงวัย ไม่ใช่อายุมากค่อยมาใส่ใจก็อาจจะสายไปแล้ว ปกติ กระดูกของเราจะมีการทำลายและสร้างใหม่อยู่อย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่เด็กจน 30 ปี จะเป็นช่วงสร้างมากกว่าทำลาย เรียกว่าเป็นช่วงสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรง ช่วงหลังจากนั้นสัก 5-10 ปี การสร้างกับทำลายอาจจะสมดุลพอๆ กัน พอหลังจากนั้น การทำลายจะมากกว่าการสร้าง สิ่งที่ทำได้คือการรักษามวลกระดูกที่มีอยู่ไว้ให้ดีที่สุดนั่นเอง ระดับของโรคกระดูกพรุนจึงขึ้นอยู่กับว่าเราสะสมมวลกระดูกไว้มากน้อยแค่ไหนในช่วงเด็กๆ จนอายุ 30 ปี

โรคกระดูกพรุน ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นโรคครับ มันคือภาวะปริมาณแร่ธาตุในกระดูกลดลง ทำให้เปราะแตกหักได้ง่าย บริเวณที่กระดูกหักบ่อยก็คือ ข้อมือ สะโพก และสันหลัง อย่างข้อมือกับสะโพก ก็มาจากการล้ม ยันพื้น กระแทกต่างๆ อย่างสันหลัง ก็มาจากการทรุดตัวของกระดูก ถ้าส่วนสูงของเราลดลง นั่นก็หมายความว่ากระดูกเรายุบตัวนั่นเอง

พฤติกรรมที่ส่งเสริมการสร้างมวลกระดูกได้แก่ ทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง ออกกำลังกาย ไม่สูบบุหรี่ไม่ดื่มสุรา อาหารที่มีแคลเซียมสูงที่ดีที่สุดคือนม ถ้าดื่มนมไม่ได้ก็ต้องทานเต้าหู้ ปลาเล็กปลาน้อย ผักสีเขียวอย่างคะน้า ใบชะพลู งาดำ เป็นต้น การออกกำลังกายที่ช่วยสร้างมวลกระดูก จะเป็นลักษณะที่มีการกระแทกเบาๆ เช่น กระโดดยาง กระโดดเชือก การวิ่ง การเต้นแอโรบิก ร่วมถึงการยกน้ำหนัก ก็ช่วยสร้างมวลกระดูกได้เช่นกัน แสงแดดช่วยสังเคราะห์วิตามินดี เราควรออกไปรับแดดอ่อนๆ บ้าง วันละ 5-10 นาทีก็เพียงพอ กินอาหารให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่เหมาะสม โปรตีนเนื้อสัตว์กินมากไปก็ไม่ดีนะครับ เพราะจะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะ อย่างน้ำอัดลมก็ไม่ควรดื่มมาก เพราะกรดฟอสฟอริกทำให้เกิดการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก ปัจจุบัน เราสามารถไปตรวจมวลกระดูกได้ที่โรงพยาบาล เด็กๆ ก็เร่งสร้างเร่งสะสมมวลกระดูก ส่วนผู้ใหญ่ก็หมั่นทำ (กิจกรรม) ดีเพื่อรักษามวลกระดูกดั่งรักษาความดีไว้นะครับ

 

ฟัง Podcast ประกอบบทความได้ที่
“Good Diet EP 27 :กระโดดยางสร้างกระดูก

แชร์